“ผ้าปักม้ง” เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นและเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ม้ง ผู้หญิงชาติพันธุ์ม้งจะมีทักษะความเชี่ยวชาญในด้านการปักผ้าโดยจะใช้เพียงเข็มเล่มเล็ก ๆ ปักลวดลายต่าง ๆ บนผืนผ้าจากจินตนาการของตนเอง สื่อออกมาเป็นลวดลายบนผืนผ้าที่สวยงาม
น้องวาสนา อายุ 8 ปี และน้องเบญญาภา หรือน้องปู๋ อายุ 13 ปี สองเด็กหญิงชาติพันธุ์ม้งเด็กในความดูแลของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านน้ำสอด อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อพยพมาจากประเทศลาว และมีวัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง น้องวาสนาและน้องปู๋ สนใจและเริ่มหัดปักผ้าม้งตามรอยบรรพบุรุษ โดยน้องทั้งสองบอกว่าจะหัดปักผ้าเพื่อเอาผ้ามาทำชุดม้งไว้ใส่ในงานปีใหม่ม้งที่จะถึงในเดือนธันวาคม 2565
แม่ของน้องวาสนา และแม่ของน้องปู๋ เล่าว่า ในอดีตผู้หญิงม้งทุกคนต้องปักผ้าเป็น แต่ปัจจุบันเพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัย มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การปักผ้าด้วยมือจึงมีลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แม่อยากอนุรักษ์วัฒนธรรม เอกลักษณ์ลวดลายผ้าปักม้งไว้ จึงฝึกให้น้องทั้งสองได้ลองปักผ้า อีกทั้งน้องทั้งสองก็สนใจอยากจะลองปักผ้าม้งเพราะเห็นแม่ปักด้วย
แม่ของน้องทั้งสองบอกว่าจะฝึกสอนน้อง ๆ เริ่มจากการปักผ้าลายง่าย ๆ ไปถึงลายที่ยาก เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการปักผ้าให้คงอยู่กับชุมชนตลอดไป และเด็ก ๆ จะได้ภูมิใจที่ได้ใส่ชุดประจำเผ่าที่ตัวเองมีส่วนร่วม ในอดีตส่วนใหญ่จะใช้ผ้าไหมดิบที่ผลิตเองมาปักเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งลวดลายนี้แม่จะเป็นคนคิดลวดลายเอง ส่วนใหญ่ผ้าที่ใช้ปักนั้นจะทำมาจากผ้าใยกัญชง เมื่อมีการปักเสร็จแล้วจะนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ในเทศกาลปีใหม่ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มีชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดปี หรือสวมใส่ในวันสำคัญต่าง ๆ ประจำชาติพันธุ์ ผู้หญิงชาติพันธุ์ม้งทุกคนจะต้องปักผ้าเป็น โดยการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกสาว อีกทั้งยังสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างแม่กับลูกสาวให้มีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ผ้าปักม้ง ยังเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวของน้องทั้งสอง โดยแม่ของน้องทั้งสองจะใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำสวน ปักผ้าเพื่อขายเป็นรายได้เสริม และรับจ้างปักผ้าเมื่อมีพ่อค้าแม่ค้ามาจ้างปักเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ เช่น ถุงย่าม กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเป้ กระเป๋าสตางค์ ถุงใส่โทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จังหวัดน่านใน พ.ศ.2525 ปัจจุบันดูแลเด็กกว่า 1,300 คน ซึ่งนอกจากการให้การสนับสนุน ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสด้วยการมอบทุนการศึกษา สนับสนุนคลังอาหารที่บ้าน อาหารเช้าในโรงเรียน สนับสนุนปรับปรุงอาคารเรียนและระบบน้ำในโรงเรียน การจัดค่ายวิชาการ กิจกรรมเสริมภูมิรู้วิถีชีวิตแนวใหม่ กิจกรรมเยาวชน CCF อาสาทำดีเพื่อสังคม โครงการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก ป.1 และการสนับสนุนจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชนช่วงการแพร่ระบาด Covid-19 แล้ว มูลนิธิฯ ยังมุ่งสนับสนุนกิจกรรมอารยอนุรักษ์ เพื่อเสริมความรู้ สร้างความรัก และร่วมสืบสานภูมิปัญญาตามวิถีชุมชน เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาและค้นหาเอกลักษณ์ชุมชน เพื่อพัฒนาและขยายผลไปสู่อาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไปด้วย