“SA-PA-CUA” (ซะปะคัว) เป็นภาษาพื้นเมืองของคนภาคเหนือที่มีความหมายว่า “มีสิ่งของหลากหลายอย่าง”
ที่โรงเรียนมัธยมป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน “SA-PA-CUA” คือ การรวมกลุ่มของเด็กในโรงเรียน ด้วยการที่เด็กในโรงเรียนเป็นเด็กชาติพันธุ์ ม้ง เมี่ยน ลัวะ และแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง อาทิเช่น ผ้าลายเขียนเทียน ผ้าปักลายชาวเขา เครื่องเงิน หรือเครื่องประดับทองเหลือง จึงมีการรวมตัวกันในเป็นชื่อกลุ่ม SA-PA-CUA
และเมื่อมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ได้จัดกิจกรรมปั้นเยาวชน คนมืออาชีพ (Youth Ready) ภายใต้ โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ขึ้น กลุ่มเด็กจากโรงเรียนมัธยมป่ากลาง จึงได้สมัครเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการที่เด็กรุ่นใหม่ควรที่จะร่วมกันอนุรักษ์วัฒธรรมของตนเอง ที่ส่งผ่านยังลวดลายบนผืนผ้า ให้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่มเด็ก SA-PA-CUA ของโรงเรียนมัธยมป่ากลาง มีสมาชิก ทั้งหมดจำนวน 20 คน ทำโครงการ SA-PA-CUA จากผ้าลายเขียนเทียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ นักเรียนให้มีความรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และประสบการณ์และเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต มีรายได้เสริมระหว่างเรียนและสนับสนุนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากผ้าลายเขียนเทียนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน”
หลังจากกลุ่ม SA-PA-CUA ได้ผ่านกระบวนการค่ายอบรมออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย สร้างสรรค์ลวดลายตามจินตนาการของตนเอง การย้อมผ้า กลุ่มเด็กได้มีการวางแผนงานที่จะดำเนินการต่อด้วยการนำผ้าเขียนเทียนไปทำเป็นเสื้อผ้า กระโปรง และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปจำหน่ายในตลาดถนนคนเดิน งานเทศกาลท้องถิ่นอื่น ๆ