“ตอนเด็ก ๆ ผมจำได้ เมื่อถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 แม่และญาติ ๆ ก็จะมารวมตัวกัน นำผลไม้ อาหารคาวหวาน ข้าวสารข้าวเหนียว หมากพลู เอามารวมกันเพื่อจะทำห่อข้าวเล็ก ๆ ผมเคยสงสัยว่าเขาทำไปทำไม แม่ผมเล่าว่าเขาทำให้บรรพบุรุษ ถ้าไม่ทำบุญบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้วจะไม่ได้รับอาหารหรือบุญเหมือนคนอื่น ๆ ทำให้บรรพบุรุษสาปแช่งทำมาหากินไม่ขึ้น เมื่อเอาห่อข้าวน้อยไปวัดเพื่อให้พระทำพิธี ตั้งแต่ตี 4 แล้วต้องเอากลับมา 2 ห่อ เพื่อจะเอาไป ไว้ที่นาและเล้าข้าว เพื่อให้การทำนาจะได้อุดมสมบูรณ์ แม่ของผมจะบอกเสมอว่า ‘ถ้าแม่ไม่อยู่แล้วอย่าลืมทำตามประเพณีละ แม่จะได้รับผลบุญนี้’ ตอนนี้แม่จากไปแล้ว 3 ปี ทุก ๆ ปีผมจะไปทำบุญที่วัดตามคำที่แม่บอกและสั่งไว้” ผดุงเกียรติ คำแสน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เล่าให้เพื่อน ๆ ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ
ฮีตสิบสอง ทำบุญเดือน 9 “บุญข้าว ประดับดิน” งานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ ประเพณีภาคอีสาน ที่ชาวบ้านเชื่อว่า จัดทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและสัตว์นรกหรือเปรตตามความเชื่อ ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารคาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ ปิ้งปลา น้ำพริก (แจ่ว) มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็กๆ จำนวน 9 ห่อ เปรียบเหมือนการทำบุญเดือน 9 ห่อข้าวนี้ก็ต้องมี 9 ห่อ
ชาวบ้านจะเดินทางไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสาก จุดเทียน 1 เล่ม ธูป 1 ดอก ใส่ในกระทง หลังจากนั้นพระจะทำพิธีสวด ชาวบ้านก็จะกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำกระทงข้าวประดับดินนี้ ไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ ตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ โบสถ์ หรือที่เก็บกระดูกของพ่อแม่ บรรพบุรุษ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุ” ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า “การวางห่อข้าวน้อย” แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า “การยาย” (วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด
หลังจากวางห่อกระทงข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้าน โดยนำห่อข้าวประดับดินนี้กลับไปบ้านด้วย 2 ห่อ อีก 7 ห่อ จะทิ้งไว้ที่เดิม โดยเชื่อว่าวิญญาณของพ่อแม่จะมารับข้าวปลาอาหารนี้เป็นบุญที่จะได้รับ สำหรับห่อข้าว 2 ห่อ ที่นำกลับมาด้วย
ห่อที่ 1 ชาวบ้านจะนำไปที่วางที่หัวไร่ปลายนา โดยเชื่อว่าเป็นการเลี้ยงผีไร่ ผีนา ระลึกถึงบุญคุณพร้อมอธิฐานขอให้ทำนาแล้วได้ผลผลิตมาก ๆ ได้ข้าว ปลา อุดมสมบูรณ์ ในปีนั้น ๆ ห่อที่ 2 ห่อ ชาวบ้านจะนำไปวางที่เล้าข้าว โดยเชื่อว่าจะทำให้ได้ข้าวที่มาก ไม่เสียหายจากการเก็บรักษาในหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว
พอรุ่งสางของเช้าอีกวันหนึ่งชาวบ้านก็จะเตรียมอาหารไปทำบุญที่วัดอีกครั้ง หลังจากที่พระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน จากนั้นชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ ทำบุญกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญเดือน 9 บุญข้าว ประดับดิน จึงถือเป็นบุญประเพณีที่มีความสำคัญต่อจิตใจผู้มาร่วมทำบุญเพื่อสร้างเสริมกำลังใจในการทำมาหากินและเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว