ภาพเด็กๆ กำลังนั่งรวมตัวกันพับกระดาษ หยอกล้อและแข่งกันว่าเครื่องบินกระดาษของใครจะลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่ากัน เป็นภาพที่ชวนให้คุณครูปลื้มใจและมีกำลังใจอยากค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาสอนเด็ก กิจกรรมนี้เป็นผลมาจาก โครงการเปิดโลกอัจฉริยะ ที่ได้จัดอบรมครูและนักเรียน 312 คน 98 โรงเรียน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านแนวคิด STEM (การบูรณาการการเรียนการสอน Science, Technology, Engineering และ Mathematics เข้าด้วยกัน) เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าถึงสื่อความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัยทั้ง 4 ด้าน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้โรงเรียนคิดค้นนวัตกรรมในการสร้างนิสัยให้นักเรียนรักการอ่านและรักการค้นคว้า เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
โรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร (ไพโรจน์วิทยา) อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นตัวอย่างหนึ่งของการต่อยอดและนำประสบการณ์การเรียนรู้จากการฝึกอบรมไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ในปีการศึกษา 2559
นางอาตีกะห์ สามะ ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ได้จัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้เรื่อง "เครื่องบินกระดาษ" และ "เครื่องร่อนทำด้วยโฟม" ให้กับนักเรียนชั้น ป.4-6 จำนวน 180 คน ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะเข้าร่วมกิจกรรมทุกสัปดาห์วันละ 1 ชั่วโมง เล่าให้ฟังว่า "นักเรียนทุกคนสนุกสนานกับการเรียนรู้ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เด็กกระตือรือร้นที่จะเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบนี้ เด็กๆหลายคนจะสอบถามข้อมูลกับครูเรื่องการหาซื้ออุปกรณ์ไปฝึกทำที่บ้านด้วย"
"ชอบกิจกรรมนี้มาก ชอบจริงๆ สนุกด้วยครับ" ด.ช.ธีรเดช คงชน นักเรียน ชั้น ป.4
"ผมได้ทำกิจกรรมนี้แล้วก็อยากเรียนอีก อยากให้คุณครูสอนทำหลายๆอย่างเลยครับ" ด.ช.มูฮัมหมัดอัซฮา โต๊ะยอ นักเรียน ชั้น.ป.6
ท่ามกลางข้อจำกัดในการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่ทำให้โรงเรียนต้องหยุดบ่อย เวลาที่จัดการเรียนจึงลดลงด้วย กิจกรรมการเรียนรู้แนวทางนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กๆ ได้ดี และที่สำคัญ...ได้คืน "รอยยิ้ม" ให้ใบหน้าเด็กน้อย 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย :)
แสงแดดจางๆ กับลมพัดเบาๆ เหมาะกับการทดลองเครื่องร่อนกระดาษที่สุดเลย
เด็กๆ กำลังตั้งใจระบายสีตกแต่งเครื่องร่อนจากโฟม
อารัญ สุขลิ้ม
ผู้ประสานงานภาค
6 กรกฎาคม 2559