"นักการศึกษากล่าวว่า โภชาการที่ดี คือ กุญแจสู่การศึกษา พวกเขากล่าวเสริมอีกว่า ถ้าหากเด็กๆ หิว พวกเขาจะไม่มีสมาธิ ถ้าหากเด็กๆ ขาดอาหาร สมองของพวกเขาจะไม่มีการพัฒนาที่ดี หรือไม่มีกำลังในการเรียนหนังสือ นักโภชนาการผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้พบเมื่อเร็วๆนี้ กล่าวว่า การศึกษา คือ กุญแจไขสู่การทำงานของพวกเขา ถ้าพวกเขาไปทำงานในที่ซึ่งไม่มีการศึกษา พวกเขาจะทำงานด้วยความยากลำบาก นักการศึกษากล่าวว่าโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ และนักโภชนาการกล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ"
พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2548 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
อาหารเช้าเพื่อน้อง เป็นโครงการที่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ริเริ่มขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่ได้รับจากองค์อุปถัมภ์ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาต่อเด็กๆ โดยได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2552 เพื่อแก้ปัญหาเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียนโดยไม่ได้กินอาหารเช้า อันเนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานก่อนสว่าง ไม่ได้เตรียมอาหารเช้าไว้ให้ เด็กบางรายพ่อแม่ทิ้งเงินไว้ให้ แต่เด็กนำไปซื้อขนมกินเล่นแทนที่จะซื้ออาหารหลัก บางครอบครัวเด็กขาดแคลนแหล่งอาหาร ไม่มีเงินซื้อ ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล
การบริโภคอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ จะส่งผลต่อระบบสมองและสมาธิในการเรียนของเด็ก เด็กบางคนต้องดื่มน้ำให้มากและบ่อยๆ เพื่อประทังความหิว รอจนถึงอาหารกลางวัน การสนับสนุนอาหารเช้าสำหรับเด็ก จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เมื่อเด็กได้รับประทานอาหารก่อนไปโรงเรียน จะทำให้มีความพร้อมในการเรียนหนังสือและร่วมกิจกรรมในโรงเรียนอย่างเต็มที่
การดำเนินงานจะเป็นไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะร่วมมือกับโรงเรียนหรือชุมชนเป็นผู้ดูแลซื้ออาหารสดและเครื่องปรุงมาเตรียมไว้ แล้วมอบหมายให้ครูหรือนักเรียนทำ หรือจ้างแม่ครัวมาทำ และไม่ว่าจะเป็นเด็ก ซี.ซี.เอฟ. หรือ ไม่ใช่เด็ก ซี.ซี.เอฟ. แต่ถ้าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ช่วยเหลืออยู่ ก็จะได้รับประทานอาหารเช้าที่ทำขึ้นเช่นกัน
"มีเด็กอนุบาล ป.1 ป.2 มาบอกครูว่ามีอาการปวดท้อง เราถึงถามเด็กจึงได้ความว่าเด็กไม่ได้ทานข้าวมา ส่วนเด็กโตหน่อยเขาก็จะปวดท้องเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะพ่อแม่ต้องรีบไปทำงานแต่เช้าเลยไม่ได้เตรียมไว้" นางลัดดาวรรณ์ ศิริชาติ คุณครูโรงเรียนบ้านนาอินทร์แต่ง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ กล่าว
"หลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการอาหารเช้าจาก มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. สิ้นปีการศึกษาเราพบว่าเด็กนักเรียนมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีสุขภาพจิตดีแจ่มใส กล้าแสดงออกมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือผู้ปกครองมีความพึงพอใจ เนื่องจากชาวบ้านที่นี่มีฐานะยากจน การได้รับความช่วยเหลือตรงนี้ก็ผ่อนภาระไปได้มาก" นางจันทพร หอมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหินลับ อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกล่าวอย่างตั้งใจ
หลังจากเด็กๆ ได้เข้าร่วมโครงการอาหารเช้าอย่างเพื่อน้องอย่างต่อเนื่อง ได้พบว่าเด็กๆ ขาดเรียนน้อยลง มีสมาธิและความพร้อมในการเรียนมากขึ้น ตลอดจนสามารถร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียนได้
มูลนิธิฯ มุ่งมั่นที่จะลดจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียนลงให้ได้ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่