"งานแห่ต้นดอกไม้" หนึ่งเดียวในไทยที่ อ.นาแห้ว จ.เลย
"ความเชื่อที่หล่อหลอมแต่โบราณว่า การทำต้นไม้ใหญ่บูชาก่อนวันสงกรานต์จะเป็นมงคลกับชีวิต"
"งานแห่ต้นดอกไม้" ประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 400 กว่าปี โดยเริ่มแรกนั้นเกิดจากความเชื่อว่า การนำดอกไม้มาบูชาพระในวันสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ไทย เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือเป็นสิ่งอันเป็นมงคล โดยจะเริ่มจากการเก็บดอกไม้สดที่จากเป็นดอก ก็นำมาทำเป็นช่อ...กระทั่งพัฒนามาเป็นพานพุ่มบายศรีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ พัฒนาเรื่อยมาจนมีโครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่เป็นพานพุ่มเล็ก ๆ ถือคนเดียว ต่อมาก็มีคน หาม 4 คน จนถึงต้นดอกไม้ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนหาม 6 คน 8 คน ถึง 18 คนหาม เมื่อตกแต่งจนเสร็จ ก็จะเริ่มแห่ต้นดอกไม้เข้าวัด การทำต้นดอกไม้ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวกันเท่านั้น
นางศิริพร ศรีฟอง อายุ 56 ปี กรรมการ ซี.ซี.เอฟ. พื้นที่การดำเนินงาน จ.เลย ได้เล่าถึงพิธีกรรมนี้ที่บ้านนาแห้วว่า “คนในชุมชนบ้านเหมืองแพร่ บ้านบุ่ง บ้านนาโพธิ์ จะนำต้นดอกไม้มาประกอบพิธีพร้อมกัน ณ วัดโพนสว่างพัฒนาราม โดยจะมีคนแบกต้นดอกไม้ต้นละ 4 คน เพราะแต่ละต้นซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 150-200 กิโลกรัม คนแบกก็ต้องคอยสลับสับเปลี่ยนกันไป จนกระทั่งแห่รอบโบสถ์ครบ 3 รอบ และขณะที่แห่จะมีการตีกลอง ร้อง เล่น เต้น รำ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน
"งานแห่ต้นดอกไม้" บ้านเหมืองแพร่ อ.นาแห้ว จ.เลย ถือเป็นงานบุญประเพณีสำคัญที่หล่อหลอม ใจของคนในชุมชน ร่วมมือ แรงกาย แรงใจ ของทุกคนในหมู่บ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดความรักความสามัคคี สร้างความสนุกสนานให้กับคนทุกวัย ตั้งแต่ผู้เฒ่า ผู้แก่ คนหนุ่มสาว หรือเด็ก ๆ พร้อมเชื่อว่าการได้จุดเทียนบูชาพระในปีนั้นแล้วจะช่วยให้ตนเองและครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นมงคลให้กับชีวิตในช่วงปีใหม่ไทย
เผยแพร่เมื่อ : 30 กรกฎาคม 2567