“ตำบลโคคลาน” เป็น 1 ใน 5 ตำบล ที่เป็นพื้นที่การทำงานของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว คำว่า “โคคลาน” เมื่อได้ยินครั้งแรก หลาย ๆ คนมักคิดไปถึง คำว่า “โค” ที่หมายถึง “วัว” ดังนั้นคำว่า “โคคลาน” ก็น่าจะหมายถึง วัวคลาน แต่ความจริงแล้วเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ในอดีตมีจำนวนมากในพื้นที่ตำบลโคคลาน
ถิ่นกำเนิดของ “ต้นโคคลาน” พบที่บริเวณหมู่บ้านโคคลาน ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบัน เป็น หมู่บ้านโคคลาน ตำบลโคคลาน จังหวัดสระแก้ว ประวัติความเป็นมาของบ้านโคคลาน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในขณะนั้นได้มีพ่อค้าวัวได้ไล่ต้อนวัวมาจากภาคอีสาน จากการบอกเล่าของคนที่มาตั้งรกรากอยู่แรก ๆ ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า พวกเขาอพยบเพื่อมาตั้งหลักแหล่งประกอบอาชีพและหาที่ทำกินเป็นของตนเอง เนื่องจากบ้านเดิมที่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พวกเขาไม่มีที่ดินทำกิน พอมาถึงที่บ้านโคคลาน ตำบลโคคลาน ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ก่อนยังไม่ได้ใช้ชื่อนี้ พวกเขาได้เห็นพ่อค้าต้อนฝูงวัวมามากมาย เมื่อมาถึงบริเวณเชิงเขาคันนาด้านที่มีทางขึ้นเขาชันมาก และวัวเดินทางไกลจึงเมื่อยและอ่อนล้า จึงไม่สามารถเดินทางขึ้นเขาได้ แต่เมื่อสังเกตุว่า วัวได้พากันกินพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่บริเวณนั้น จึงสามารถฟื้นพละกำลังได้เร็วกว่าปกติ จึงได้ลองขุดพืชชนิดนั้นขึ้นมา แล้วนำมาทดลองต้มน้ำดื่มดู ปรากฎว่าอาการปวดเมื่อยก็คลายปวดลดลงได้ จึงพากันเรียกตามที่วัวกินแล้วคลานขึ้นเขาได้ว่า “ต้นโคคลาน” และผู้ที่มาตั้งหมู่บ้านจึงตั้งชื่อบ้านตามชื่อพืชชนิดนี้ว่า “บ้านโคคลาน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
หมอยาแผนไทยในยุคสมัยก่อน จึงนิยมเอาต้นโคคลาน มาเป็นยารักษาโรคหลายอย่าง โดยใช้เถากับรากปริมาณเท่า ๆ กัน นำไปต้มน้ำจนเดือด แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1-2 เวลา ตอนไหนก็ได้ เพื่อเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นตึง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงโลหิต นอกจากชื่อ “โค-คลาน” แล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีว่า ต้นกระดอหดใบขน และในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นกูเราะเปรียะ ปัจจุบัน ต้นโคคลาน จะมีการปลูกเพื่ออนุรักษ์ เฉพาะตามสวนสมุนไพรขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ตามป่าตามเขา ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติจะพบน้อยมาก
โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดสระแก้ว เห็นว่าต้นโคคลานนี้ มีประโยชน์ทั้งในด้านที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนตำบลโคคลาน เพราะเปรียบเสมือนเป็นรากเหง้าที่มาของชื่อชุมชน อีกทั้งยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ทางด้านสมุนไพร จึงได้ไปหาพันธุ์ต้นโคคลานมาให้เด็ก CCF และเด็กในชุมชนได้ทดลองปลูก เพื่อที่จะนำไปต่อยอดและขยายพันธุ์ให้ทุก ๆ ครอบครัวของเด็ก CCF ได้ปลูกกัน เพราะนอกจากสมุนไพรนี้จะกลายเป็น “ยากาย” ที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของคนในชุมชน ยังเป็น “ยาใจ” ที่จะช่วยให้เด็กได้รู้จัก “รากเหง้า” ของตัวเองอีกด้วย