ซ้ายไปขวา: สมาชิกกลุ่มไม้ขีดไฟ เอ๊ะ, เอ, กุ๋ย, เฌอ, เตย
เส้นทางที่มืดมิดที่ไม่ว่าจะนำทางไปสู่สิ่งใด นักเดินทางมือใหม่ย่อมตระหนก ผวาหวาดหวั่นเมื่อก้าวย่างแต่ละก้าวที่ย่ำเดิน ไม่สามารถคำนวณทิศทางท่ามกลางความมืดนั้นได้ จะหยุดเฉยๆ ก็ไม่ได้ แต่จะยังคงรั้นฝืนเดินไปก็เสี่ยงที่จะหลงทิศผิดทาง หวนกลับมาได้ยากยิ่ง ดังนั้น...ไฟส่องทางย่อมเป็นที่โหยหาของนักเดินทางทุกผู้คน เส้นทางเดินชีวิตก็เช่นเดียวกัน ยิ่งสำหรับเด็กเยาวชนยิ่งสำคัญ การเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและของตัวเอง เพื่อกำหนดก้าวย่างทางเดินให้ชีวิต ย่อมมิใช่ของง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กยากไร้
เพียงแค่ไฟดวงเล็กๆ ก็จะสว่างเจิดจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ท่ามกลางความมืดสนิท กลุ่มนักกิจกรรมเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา พลีกายทอดหัวใจทำหน้าที่ ไฟส่องทาง ดังว่า ดูพวกเขาจะเข้าใจถึงหัวอกนักเดินทางในยามค่ำเป็นอย่างดี จึงเรียกตัวเองว่า "กลุ่มไม้ขีดไฟ"
นับ 10 ปีที่ กลุ่มไม้ขีดไฟ ร่วมงานกับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เนิ่นนานและลึกซึ้งมากพอที่เราจะนำบทเรียนและประสบการณ์ของ 3 สมาชิกกลุ่มไม้ขีดไฟ มาศึกษาเรียนรู้กัน วงสนทนาเล็กๆ ระหว่างเพื่อนเก่าถูกจัดขึ้นในค่ำคืนของ"ค่ายวิทยากรน้อย" (ส่วนหนึ่งของโครงการรวมพลังเยาวชนรู้รักสามัคคีเพื่อเมืองไทยแข็งแรง) หลังจากภารกิจการทำกระบวนการ - ค่ายเยาวชน ที่ดูจะเป็น "บ้าน" หลังที่สองของกลุ่มไม้ขีดไฟ บ่อยๆ ครั้งที่พวกเขาอยู่ค่ายมากกว่าอยู่บ้าน
ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน (กุ๋ย) พร้อมด้วยคู่ชีวิต สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน (เอ) และ พงศธร สายชมพู (เฌอ) 3 คนสามัญธรรมดา ที่ทำหน้าที่ใช้ ไม้ขีดไฟ ก้านเล็กๆ จุดประกายฝัน ในคนในโลกใบวุ่นวายนี้ นั่งลงพร้อมพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเอง
มาร่วมงานกับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ได้อย่างไร?
เอ - สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน : มันเริ่มมาจากว่า ...ที่ผ่านมาเวลาเราคิดจะระดมทุน เราก็จะคิด ขายของ (ทำโครงการ) เขียนโครงการเสนอแหล่งทุน นั่นคือวิธีคิดของ NGO เพื่อจะหาเงิน แต่เราได้มีโอกาสไปร่วมฝึกอบรมเรื่องระดมทุน วิทยากรเขาบอกเราว่า ถ้าที่เราจะขายมันไม่ใช่สิ่งเป็นจุดแข็งของเรา เราขายไปมันก็แบกภาระ เพราะมันไม่ใช่งานของเรา แกก็ให้เราตั้งคำถามว่าจริงๆ เรามีอะไรที่เป็นจุดแข็ง เราก็พบว่าเราทำกระบวนการได้ เราก็แปลงมันเป็นสินค้า เราก็ลอง Design มันออกมาว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เราสามารถขายได้ เช่น กระบวนการสร้างแกนนำ...โน้นนี่นั่น ก็ทำเป็น Profile เป็นจดหมาย แล้วก็หว่านไปให้ทุกที่เลยว่าเรารับทำงานแบบนี้ ลักษณะนี้น่ะ จ้างเราไหม... ส่งไปเยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั่นก็คือ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : ซี.ซี.เอฟ. เขาเห็นงานที่เราทำอยู่บ้าง ก็เลยถูกเรียกมาคุย ว่า...เนี่ยฉันสนใจอย่างนี้ ก็เริ่มจากโครงการหนอนหนังสือ เรื่องการอ่าน ซึ่งเราก็ชอบอยู่แล้ว เราก็นั่งคิดกระบวนการ จากการอ่าน ขยับมาทำเรื่องเหล้า
เฌอ - พงศธร สายชมพู : ทำเรื่องการลงเก็บข้อมูลในชุมชน การทำงานชุมชน ตามเด็กไปดูว่าเด็กทำงานในชุมชนเป็นยังไงบ้าง ให้คำปรึกษา อะไรประมาณนี้
กี่ปีมาแล้ว?
เฌอ - พงศธร สายชมพู : โห.... ตั้งแต่เมื่อปี 2545 แล้วน่ะ ก็ประมาณ 10 ปี ก็ตั้งแต่เด็ก ป.5 จนวันนี้เขาจบมหาวิทยาลัยแล้วอ่ะ แต่บางจังหวะก็ห่างๆ หายๆ ไป
ตั้ง 10 ปี ก็แสดงว่า กลุ่มไม้ขีดไฟ ก็ต้องพึ่งพอใจหรือสนับสนุน แนวทาง ปรัชญาการทำงานพัฒนาเด็กของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. มิฉนั้นคงไม่ร่วมงานมาได้ยาวนานขนาดนี้?
เอ - สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน : ใช่ พึงพอใจในเชิงปรัชญา คือเริ่มต้นเรารู้จัก ซี.ซี.เอฟ. ในลักษณะของมูลนิธิแบบสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางนี้ 100% แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธน่ะ ใครมีศักยภาพตรงไหนก็ช่วยๆ กันทำไป แต่เราได้อยู่ร่วมในช่วงที่เป็นรอยต่อของ ซี.ซี.เอฟ. รอยต่อในเชิงการเปลี่ยนผ่านวิธีคิดจนเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซี.ซี.เอฟ. เริ่มตั้งคำถามกับวิธีการนี้ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าการสงเคราะห์มันไม่ยั่งยืน เด็กที่ได้รับการสงเคราะห์ด้วยทุนการศึกษา ด้วยเสื้อผ้า กระเป๋านักเรียน วันหนึ่งมันก็หมดไป แต่จะทำอย่างไรจะติดตั้งวัคซีน ติดตั้งอาวุธ ให้กับเด็กเหล่านี้ ถึงไม่มีทุนชีวิตก็ไปต่อได้ ซึ่งอันนี้มันตรงกับความเชื่อและวิธีคิดการทำงานของกลุ่มไม้ขีดไฟ
มีบทพิสูจน์อะไรในการร่วมงานกัน 10 ปี แต่ละรุ่นๆ เด็กเข้ามา ออกไป เปลี่ยนแปลงอย่างไร สมดั่งหวังของเราไหม เพราะอะไร?
เฌอ - พงศธร สายชมพู : เริ่มแรกในช่วงที่ ซี.ซี.เอฟ. ปรับระบบการทำงานเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ให้ฝึกความเป็นผู้นำ การคิด/เขียนโครงการ การทำงานในชุมชน ก็จะเห็นได้ว่าเด็กเริ่มเติบโต ปีแรกนี่เหมือนจับปูใส่กระด้งเลย พอปี 2 ก็เริ่มชัดเจนขึ้นว่าใครเป็นไง ก็เริ่มเข้าหาตัวแกนๆ นำๆ หน่อย แล้วก็เริ่มทำงานกัน เห็นได้ชัดว่าน้องๆ ฉายแววมากขึ้น สามารถทำงานจนชุมชนยอมรับ เราเฝ้ามองเขาหลายปีผ่านไป เขาทำกิจกรรมด้วย เรียนด้วย 2 อย่างควบคู่กันไป พอเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ทั้งภูมิใจเพราะเขาทำในชุมชนของเขาเอง หลายคนก้าวเข้าสู่มหา’ลัยก็ยังทำกิจกรรม และก็ยังกลับมาในพื้นที่ที่บ้าน มาช่วยน้องๆ ทำงานด้วย บางคนพอเรียนจบก็ผันตัวเองมาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากกระบวนการที่เราทำ พูดได้ว่าเป็นแบบนั้น
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : ปีที่แล้วเอง ผมเคยถามน้องว่าเจอไม้ขีดไฟตั้งแต่เมื่อไร เขาว่าประถม จนมหา’ลัย จนได้ทุนไปอยู่เมืองนอก เจอเราตั้งแต่โครงการหนอนหนังสือ ผมถามว่ามันเกี่ยวกับพวกพี่ไหม เขาตอบว่าเกี่ยว เขาว่าเป็นเพราะกระบวนการของพวกพี่ ทำให้ผมมาถึงทุกวันนี้
แล้วในส่วนของกิจกรรมใน โครงการรวมพลังเยาวชนรู้รักสามัคคีเพื่อเมืองไทยแข็งแรง ทำมา 3 ปีแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง?
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : เราทำกับซี.ซี.เอฟ. ในมิติของการพัฒนาศักยภาพเด็กให้ออกไปมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นภายใน ไม่ใช่แค่เด็กที่รับโอกาสจากสังคมอย่างเดียว แต่ว่าในด้านของการรับเขาต้องลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพตัวเองในการที่จะเป็นผู้ให้ ให้น้องรุ่นต่อไป ให้เผยแพร่ไปสู่ชุมชนและสังคมต่อไป โครงการนี้น้องๆ เขาจะได้เรียนรู้มิติเรื่องของการรู้รักสามัคคี แล้วผลักดันออกมาเป็นโครงการ เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาคนในชุมชน ให้ความรู้กับเพื่อนกับคนในชุมชนเพื่อให้เข้าใจเรื่อง ความสามัคคี เรื่องความรุนแรง เรื่องประชาธิปไตย ซึ่ง Output ไม่ใช่แค่ชุมชนพัฒนานะ แต่เด็กๆ ก็จะได้พัฒนาตัวเองผ่านการเรียนรู้ประเด็น แล้วก็การทำงานอย่างมีส่วนร่วม
แล้ว 3 ปีที่ผ่านไป เกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ บ้าง?
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : แรกๆ เลยนี่ เขาไม่กล้าแสดงออกเลย เหมือนถูกกดทับด้วยความยากจน ว่าตัวเองเป็นเด็กยากจน เป็นเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือมาโดยตลอด แต่ปรากฎว่าเราทำงานโครงการนี้ 3 ปี นี่ไม่นับก่อนหน้านั้นอีก เราพบว่าเด็กมี Self Esteem (ความตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง) มากขึ้น มีความภาคภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเองต่อชุมชนสังคมมากขึ้น ซึ่งเราเห็นเป็นภาพรวมไม่ใช่แค่ในบางมิติ ข้อสังเกตุในการทำงานพัฒนาเด็กมันมีจังหวะก้าวของมันอยู่ 1. เรื่องของการช่วยเหลือฟื้นฟู 2. การพัฒนาศักยภาพเด็กให้พร้อมที่จะเรียนรู้แล้วก็เติบโตไป 3. เป็นคนที่พร้อมที่จะมีส่วนร่วมทางสังคม พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่จะช่วยกันรับผิดชอบ ช่วยกันพัฒนาสังคมได้ ซึ่งในแง่ของการพัฒนาเด็กนี่ น่าชื่นชมทีเดียวที่ ซี.ซี.เอฟ. ยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือน้องๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ว่าในมิติหนึ่งที่สังคมมันกำลังจะเปลี่ยนไป การศึกษาในโรงเรียนมันอาจจะยังไม่ใช่คำตอบของเด็กในสังคมนี้ และสิ่งที่ ซี.ซี.เอฟ. มีศักยภาพที่จะทำได้ก็คือการเสริมกิจกรรมเข้าไปในโรงเรียน เสริมกิจกรรมให้ทั่วถึงเด็กหลายๆ หมื่นคน ทำไงให้เขาได้เรียนรู้ พัฒนา ให้พร้อม พร้อมสำหรับสังคมนี้ที่กำลังจะเปิดตัวเอง กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้
ใช่ๆ เท่าที่ได้พูดคุยกับเด็กๆ 99% บอกตรงกันเลยว่า พัฒนาการคือการที่กิจกรรมทำให้เขากล้าแสดงออก เมื่อก่อนขี้อายไม่กล้า แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนพูดเก่ง พูดเป็น ไม่เห็นแววว่าเคยอายเลย มันเกิดจากอะไร? เพราะอะไรเขาถึงเปลี่ยน?
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : การที่เด็กสะท้อนว่ากล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น อันนี้เป็นปรากฎการณ์ที่แตะต้องได้ แต่สิ่งที่เราทำข้างใน คือ ความภูมิใจในตัวเอง เราสร้างทักษะให้เขา ให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง การพูดได้นี่เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง เรายึดหลักในการทำกิจกรรม ก็คือให้เด็กได้ทดลองทำ ได้เรียนรู้ถูกผิด และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการรวมพลังเยาวชนรู้รักสามัคคีเพื่อเมืองไทยแข็งแรง เราให้แนวคิดเด็ก ก็ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรม ให้เด็กลงมือทำ ทำสัก 6-7 เดือน ก็เรียกกลับมาสรุปบทเรียน โดยเชื่อมให้เขาเห็นว่าทำแล้วมันเกิดอะไรบ้าง ความรู้เพิ่มไหม ทักษะอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง มีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวเองบ้าง มันก็จะกลับคืนไปสู่ตัวเขาทั้งผิดทั้งถูก เรียกว่าเติมคุณค่าให้
เฌอ - พงศธร สายชมพู : มันเป็นการทำงานที่ต่อเนื่อง เป็นการย้ำ อย่างทำมา 2-3 ปี เวลาสรุปบทเรียนน้องๆ เขาเห็นแบบจากเพื่อนๆ แล้วเขาก็เอาไปปรับปรุง ทบทวนตัวเอง เขาจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง
ซึ่งกลุ่มอื่นๆ เขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ไม่สำเร็จผลเสมอไป?
เอ - สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน : มันร่วมกัน 2 ส่วนด้วย อย่างโครงการรวมพลังเยาวชนรู้รักฯ 3 ปีนี่มันถูกวางจังหวะอย่างต่อเนื่องและเอาจริงกับมัน ในแต่ละปีๆ มันมีเวทีให้เด็กได้มีกิจกรรม ได้ทำอยู่ตลอดเวลา เด็กได้ใช้แนวคิดที่เราให้ทำ ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ 3 ปี มันมีไม่ได้มากนักที่มีโครงการทำได้แบบนี้ เจอเราก็บ่อย ที่ไม่เจออีกละ เด็กไปมีชั่วโมงบินของตัวเองอีกละ ซ้ำๆ บ่อยๆ มันเข้าไปข้างในได้เร็วกว่า คิดว่านี่เป็นปัจจัยหนึ่ง นั่นคือผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. นั่นเอง
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : คือ เราทำจริงนะเรื่องนี้ เราจริงจังกับมันมาก เก็บทุกเม็ดเลยนะ มาค่ายแรกแล้วมีเด็กหัวเราะเพื่อนที่พูดไม่ชัด นี่เราเล่นเลยนะ เราซัดเลย เราบอกว่านี่คือไม่เคารพเพื่อน จะอยู่กันยังไง... เราจะสอนทันที ทุกอย่างที่เกิดโผล่แหลมออกมา...นี่เราใส่หมดเลย แต่ใส่อย่างเป็นมิตรนะ จนกระทั่งเด็กๆ รู้แล้วว่ามาอยู่กับเรานี่ต้องยังไง เขาก็ปรับตัวอะไรที่ไม่ควรล่วงล้ำ อะไรอิสระ ผมว่าไอ้กระบวนการพวกนี้ที่เราเก็บทุกเม็ด มันทำให้เขาเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ มันก็คือบรรทัดฐานทางสังคม แล้วเรากัดไม่ปล่อยด้วย หลุดเมื่อไรเราใส่เลย เล่นเกมส์ลามกเมื่อไรเราใส่เลย ไม่ปล่อย
พูดถึง กลุ่มไม้ขีดไฟ คนก็จะนึกถึงอะไร?
3 คน พูดแทบจะพร้อมกัน : ค่าย กระบวนการ งานฝึกอบรม
กลุ่มไม้ขีดไฟ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : ก็ตั้งแต่เราทำกิจกรรมที่ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ในมหาวิทยาลัยรวมคำแหง สนใจงานค่ายมากกว่างานสร้างอาคาร เจอกันที่ไหนก็รวมๆ กันหลายๆ คน ก็เริ่มทำกิจกรรมหลายๆ เรื่อง รับน้องอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมการอ่าน เรื่องประชาธิปไตย ทำไปมั่วซั่วไปหมดอ่ะช่วงนั้น ค่อยๆ พัฒนาไป บางคนเข้ามาบางคนแยกตัวออกไป ช่วงนั้นก็ตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มเยาวชนเพื่อการพัฒนา...อะไรแบบเนี่ย ตั้งไปเรื่อย จนมาลงตัวกันว่า เฮ้ยย...เราน่าจะทำกลุ่มละคร ก็ควรจะมีชื่อชัดๆ คือเขามีกลุ่มมะขามป้อม มีกลุ่มกระจกเงา แล้วก็มีพี่คนหนึ่งจากมูลนิธิผู้หญิงว่า ...ไม้ขีดไฟสิ ดีนะเว้ย!! เออ!! เอานี่แหละ ไม้ขีดไฟ ก็...ไม้ขีดไฟ
แล้วความเชื่อ ความคิด รูปแบบการทำงาน แนวคิดแบบกลุ่มไม้ขีดไฟ ในงานเอามาจากไหน?
กุ๋ย - ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน : ก็มาจากประสบการณ์นี่แหละ เราไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้ มันก็จำเป็นที่เราจะต้องตามคนอื่นให้ทันด้วยการอ่าน การค้นคว้า เราจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำว่า เราอยากรู้อะไร คนอื่นๆ เขาทำอะไรอยู่ในเรื่องนี้ เราก็รวบรวม ก่อนเริ่มงานในประเด็นใหม่ๆ เราจะศึกษากันก่อนแล้วมาแชร์ข้อมูลกัน เราก็สรุปกันเองได้ รวมถึงแนวคิดข้างนอกที่คนอื่นเขาทำกันอยู่มาผสมกับตัวเรา เราก็มีทฤษฎีของเราน่ะ มันก็หลอมรวมกลายเป็นเรา เป็นแนวคิดเรา
เฌอ - พงศธร สายชมพู : 1-2-3-4 การทำงานทำกิจกรรมกับเด็กเราควรที่จะมีอะไรบ้าง เป็นหลักการแก่นของเราว่า เราจะให้อะไรกับเขาบ้าง เรามี 3ให้ 4ต้อง คือ ให้ความรู้ ให้ทักษะ ให้เห็นคุณค่า ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ล้วนๆ ส่วน 4ต้อง นี่ ต้องสนุก ต้องมีส่วนร่วม........ อะไรอีกอ่ะ! ลืมล่ะ! (หัวเราะทั้งวง)
วงสนทนาดำเนินต่อไปอย่างออกรส ความเป็นมาต่างๆ ถูกค้นหาเอามาเล่า จนค่ำคืนที่เงียบสงัดพลันเกิดความสุขอย่างประหลาด ท้ายสุดเหล่าสมาชิกกลุ่มไม้ขีดไฟ ก็ลุกขึ้นเดินกลับที่พักเพื่อไปนั่งคุยสรุปงานในกิจกรรมวันนี้...กันต่อ เพื่อจะนำมาปรับกระบวนในวันพรุ่งนี้ ด้วยความศรัทธาในเป้าหมายที่จะให้ "เด็กๆ ได้เติบโต ได้เรียนรู้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง รู้ทันเท่าทันโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลง"