เบื้องหลังความสวยงามของเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ม้ง ในจังหวัดน่าน ที่เรามักจะคุ้นชินภาพหญิงสาวชาวม้ง สวมใส่ชุดกระโปรงจีบเป็นพลีทเล็ก ๆ รอบเอว ตกแต่งลวดลาย พร้อมเครื่องเงินประดับที่สวยงาม เช่นตุ้มหู ห่วงคอที่ทำด้วยเงิน 3-4 วงซ้อนกัน กว่าจะเป็นชุดที่สวยงามตระการตาเช่นนี้ใช้เวลาตัดเย็บนาน บางชุดใช้เครื่องเงินตกแต่งลวดลายอย่างประณีตใช้เวลาทำนานกว่า 1 ปี เพราะทำด้วยมือทั้งหมด
21 พ.ค. 2566 โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จ.น่าน จัดค่ายนักสำรวจน้อย(ครั้งที่ 1) โครงการยุวชนร่วมสร้างเอกลักษณ์ชุมชน ณ เขตบริการบ้านตาหลวง ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน เด็กและเยาวชน จำนวน 45 คน ร่วมกันสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อศึกษาถึงอัตลักษณ์การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเครื่องเงินสำหรับประดับตกแต่ง จำพวกเครื่องเงิน กำไลคอ กำไลข้อมือ ตุ้มหู รวมทั้งเหรียญเงินขนาดต่าง ๆ ทั้งรูปวงกลมและสามเหลี่ยมที่ใช้ประดับตามเสื้อผ้าแพรพรรณ
น้องฐิติพร อายุ 16 ปี เล่าให้ฟังว่า “ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมค่ายนักวิจัยน้อย ของ ซี.ซี.เอฟ. ครั้งนี้หนูได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำเครื่องประดับ โดยเฉพาะเรื่องการทำเครื่องประดับทองเหลืองชุบเงิน ซึ่งเป็นเครื่องประดับชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่ที่หนูอาศัยอยู่ มักจะนำมาสวมใส่ใช้ประดับแต่งพร้อมกับชุดม้งในงานเทศกาลปีใหม่ม้ง เครื่องประดับที่ใส่จะเป็นการบ่งบอกลักษณะชนเผ่า ความมีฐานะทางสังคม เครื่องประดับส่วนใหญ่ทำจากทองเหลืองนำมาชุบเงิน มีหลายขั้นตอน และต้องใช้ความชำนาญในการทำ เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยแทนการทำด้วยมือทำให้สามารถผลิตได้ปริมาณมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากการรับจ้างทำเครื่องประดับ”
การส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นและคอยบอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นที่พวกเขาคุ้นเคยและภูมิใจให้ผู้อื่นได้รับรู้ ก่อนที่ภูมิปัญญาที่มีในชุมชนจะจางเลือนหายไป