การเติบโตมาพร้อมกับความบกพร่องของร่างกาย และพัฒนาการสมองช้า ของ “จ่อย” เด็กชายอายุ 12 ปีผู้อาภัพ พ่อและแม่เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก ด้วยโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ “จ่อย” จึงถูกผู้คนในชุมชน ล้อเลียน คอยกลั่นแกล้ง ต่อว่า ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัว น้องจะรู้สึกอย่างไรที่ถูกมองอย่างนั้น? น้องจะเข้าใจความหมายของมันหรือเปล่า? สำหรับผมมัน คือ การ “ตีตราเด็ก” จากคนรอบข้างผ่านทางภาษากาย ภาษาพูด การหยอกล้อ ตอกย้ำให้เด็กคนหนึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต “พื้นที่ทางสังคม” ของจ่อยช่างดูเล็กแคบจนน่าอึดอัดเสียจริงๆ ไม่ต่างอะไรกับการ “ป้ายสี” เขาลงบน “ผ้าขาว” ผืนน้อย
ครอบครัวของจ่อยอาศัยอยู่ใน จังหวัดอุดรธานี สมาชิกในครอบครัวมี 4 คน ได้แก่ ลุง น้า อา และจ่อย ฐานะทางบ้านของ จ่อย เข้าขั้นขัดสนยากจนมาก มีลุงเป็นเสาหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว เพราะน้าและอาของจ่อย ทั้งคู่พิการทางร่างกาย ไม่สามารถทำงานได้
ปัจจุบัน เขาได้ย้ายไปอยู่กับหลวงตาที่เป็นญาติกัน ณ วัดแห่งหนึ่งในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
หลวงตา ได้เล่าว่า “ได้เห็นจ่อยในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่แล้ว รู้สึกสงสารมาก ลุงของจ่อยเองก็ลำบากใจในการส่งเรียนเพราะรายได้ไม่แน่นอน จึงตัดสินใจส่งจ่อยมาอยู่กับอาตมา กินนอนที่วัด เรียนก็โรงเรียนใกล้วัด อาตมาให้เงินจ่อยไปโรงเรียนวันละยี่สิบบาท อาตมาจะได้ดูแลจ่อยตามอัตภาพ ชุดนักเรียน รองเท้า ก็ขอบริจาคกับผู้ใจบุญที่มาวัด
“จ่อย” เป็นเด็กในความดูแลของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ตั้งแต่ 2551 ทำให้ผมเริ่มมีความหวังว่าจะเห็นผ้าผืนเล็กๆ ที่ซีดเทา กลับมาเป็นผ้าขาวแต้มไปด้วยสีสันสดใสแทน โลกสีหม่นเริ่มกลับมาเป็นสีสดใสอีกครั้ง เพราะมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังคอยให้ความรัก สนับสนุนการศึกษา มีธรรมมะเป็นร่มเงา มีที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คือ “หลวงตา” แต่เพียงแค่หลวงตาคนเดียวคงยากที่จะช่วยลบคราบสีเทาออกจากผ้าผืนน้อยๆ ผืนนี้ไปได้ ทุกคนในสังคมควรจะมีส่วนช่วยลบคราบสีเทาให้กลับมาเป็นสีขาว ช่วยกันนำสีสดใสมาแต้มแต่งให้สีหม่นในโลกใบเล็กของจ่อยหายไป จ่อยจะได้ไม่หวนคืนกลับมาเจอ “โลกสีหม่น..บนผ้าสีเทา” อีกต่อไป
ปณิวัฒน์ สีหาทับ
โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดอุดรธานี
8 กันยายน 2559