“พญาลืมแกง” เป็นชื่อข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ปลูกและเก็บไว้รับประทานสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ด้วยเพราะการดูแลรักษาที่ค่อนข้างยาก ต้องปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้าเก็บเกี่ยวไม่ทันเวลาก็จะได้ผลผลิตน้อย ชาวบ้านจึงปลูกกันในปริมาณที่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะปลูกกันไว้สำหรับบริโภคในครอบครัวเท่านั้น
"ข้าวพญาลืมแกง" มีเรื่องเล่าขานต่อ ๆ กันมาเล่าว่า ในสมัยบรรพบุรุษได้มีเจ้าเมืองเสด็จมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง "เจ้าเมือง" ในสมัยโบราณเรียกว่า "พญา" ตามคำเรียกของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านที่ทราบข่าวได้ทำอาหารหวานคาว รวมทั้งนึ่งข้าวเหนียวเพื่อต้อนรับเจ้าเมืองที่เสด็จมาให้ท่านได้เสวย เมื่อเจ้าเมืองเตรียมที่จะเสวยนั้น ก็ได้กลิ่นหอมของข้าวเหนียว ท่านจึงลองเสวย ด้วยที่ข้าวเหนียวมีกลิ่นหอม อร่อย เหนียวนุ่ม ทำให้ท่านเสวยข้าวเหนียวจนอิ่ม จนลืมเสวยอาหารคาวหวานที่ชาวบ้านเตรียมมาต้อนรับ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกข้าวเหนียวชนิดนี้ว่า "ข้าวพญาลืมแกง"
ลักษณะเด่นของ “ข้าวพญาลืมแกง” เป็นข้าวไร่ข้าวเหนียว เมล็ดมีลักษณะใหญ่อ้วนป้อม เมื่อนึ่งสุก เมล็ดข้าวเกาะตัวกันดี มีเนื้อสัมผัสนุ่มปานกลาง มีรสชาติอร่อย และมีกลิ่นหอมมาก สามารถนำมาทำเป็นขนม เช่น ข้าวหลาม ข้าวเม่า กระยาสารท ฯ และขนมอื่น ๆ ได้
ในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จำนวน 670 คน มีเด็กที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีการปลูกข้าวพญาลืมแกงมากที่สุด 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านทรัพย์สว่างและหมู่บ้านห้วยหญ้าเครือ ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว ช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เด็ก ๆ ก็จะช่วยผู้ปกครองเกี่ยวข้าวเพื่อนำไว้บริโภคในครัวเรือนและนำส่วนที่เหลือนำไปขายให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการผลิตข้าวพญาลืมแกง ทำให้มีรายได้จากการขายข้าว เฉลี่ยต่อปีจะเหลือพอขายได้ประมาณ 1,000 -1,500 กิโลกรัม ซึ่งในแต่ละปีผลผลิตที่ได้มักไม่พอขาย เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างในการปลูกข้าว ทั้งสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวที่มีหลายขั้นตอนและต้องมีความเข้าใจในการปลูก การดูแลอย่างดี จึงจะสามารถผลิตปลูกข้าวพญาลืมแกงให้ได้ผลดีและมีคุณภาพ
ครอบครัวของน้องเอฟซี หนึ่งในครอบครัวที่ปลูกข้าวพญาลืมแกงเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แม่ของเอฟซีเล่าให้ฟังว่า “ข้าวพญาลืมแกง” เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี เหมาะเพาะปลูกในพื้นที่บนภูเขา วิธีการปลูกในสมัยก่อนจะปลูกแบบ “สักรุ่ง” หรือเรียกอีกอย่างว่าการ “ดำนารู” เหมาะสำหรับแปลงนาที่อยู่บนที่ดอน ซึ่งเริ่มต้นก่อนจะนำข้าวลงปลูก จะนำไม้ที่เหลาปลายเเหลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว มีความยาว1.50 เมตร กระทุ้งลงไปบนดินให้เป็นรู นำต้นข้าวปักลงไปในรู 5-8 ต้นในกรณีที่ต้นเล็ก ถ้าต้นใหญ่ก็ใส่ลงไป 3- 4 ต้น เหมือนกับการดำนาเเบบที่มีน้ำ โดยเว้นระยะห่าง 1 คืบ การปักดำนาเเบบนี้เหมาะสำหรับที่อยู่ไกลเเหล่งน้ำ เเละดินบริเวณนั้นเป็นดินที่เเข็ง เเละในช่วงที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ถ้าฝนไม่ตกวิธีการดำนาเเบบสักรุ่งต้องมีการนำน้ำมารดเพื่อให้ข้าวตั้งตัวได้ก่อน วิธีนี้ใช้เวลานานกว่าจะปลูกได้แต่ละต้น ซึ่งสมัยนี้จะไม่เห็นวิธีการปลูข้าวแบบนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะปลูกแบบสมัยใหม่ใช้รถไถที่ติดเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปปลูกเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย วิธีการทำนาแบบดั้งเดิมจะหายไป เด็กในหมู่บ้านไม่ได้รู้จักข้าวพญาลืมแกงแบบเชิงลึก รู้แค่ว่าเป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม เม็ดใหญ่ รสชาติกว่าข้าวเหนียวทั่วไป
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ จ.เพชรบูรณ์ ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน ร่วมจัดกิจกรรม “อนุรักษ์ข้าวพญาลืมแกง” ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การปลูกข้าวชนิดนี้ โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตรงจากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เฒ่า ผู้แก่ในชุมชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการปฏิบัติ ไปสู่การพึ่งตนเองตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เด็กและเยาวชนได้ตระหนักเห็นความสำคัญของพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ที่กำลังจะสูญหายไปและได้มีส่วนร่วมกันรักษาภูมิปัญญาการปลูกข้าวพญาลืมแกงข้าวพื้นบ้านในท้องถิ่นของตนเองต่อไป