บ้านผีปานเหนือ เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่เหมือนจะถูกลืม เป็นหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยง(โพล่ง) อาศัยมานานกว่า 100 ปี มาแล้วคนภายนอกน้อยคนนักที่จะได้เคยเข้าไปสัมผัส ระยะทางที่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่เพียงแค่ 60 กิโลเมตร หากเป็นพื้นที่อื่น ๆ คงใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ที่ บ้านผีปานเหนือ ต้องใช้เวลาในการเดินทางร่วม 3-4 ชั่วโมง ด้วยเส้นทางสัญจรที่ยากลำบากเป็นถนนลูกรังดินแดง เลาะเลี้ยวลัดไปตามใหล่เขาบางแห่งก็สูงชัน จนรถแทบจะปีนขึ้นไม่ใหว โดยเฉพาะในฤดูฝน ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และคนขับต้องมีความชำนาญเท่านั้น ที่นี่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีไฟฟ้า ผู้คนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ยังยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดั้งเดิมของชาติพันธุ์กระเหรี่ยงอย่างเหนียวแน่น
ข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง เป็นผลผลิตจากอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน แม้ว่ารายได้จากผลิตผลดังกล่าว จะไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเป็นหลักหมื่นหลักแสน เพราะผลิตผลบางส่วนจำต้องแบ่งไว้เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนมีแบ่งออกขายบ้างรายได้จึงเป็นเพียงแค่เงินร้อย หรือเงินพันเท่านั้น รายได้จากการแบ่งผลผลิตขายก็นำมาใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นอื่น ๆ ของครอบครัว
ที่บ้านผีปานเหนือ มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้น ป. 6 มีเด็กนักเรียนกว่า 140 คน กับคุณครูอีก 7 คน โรงเรียนไม่มีไฟฟ้า ใช้ระบบไฟโซล่าเซลที่บางครั้งไม่พอใช้ตลอดวัน โดยเฉพาะฤดูฝนซึ่งไม่มีแสงแดดเลย เป็นอุปสรรคในการเรียนการสอนและความเป็นอยู่ของเด็ก อีกทั้งยังมีเด็กเกือบ 50 คน ที่มาจากหมู่บ้านห้วยบง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านผีปานเหนือออกไปเกือบ 10 กิโลเมตร ด้วยการเดินทางที่ยากลำบากจึงจำเป็นต้องพักอยู่หอพักนอนของโรงเรียน
ด้วยความห่างไกลและการเดินทางยากลำบาก โรงเรียนบ้านผีปานเหนือ จึงได้เปิดทำการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนสาขาบ้านห้วยบง สำหรับเด็กเล็ก ๆ อีกจำนวน 47 คน ที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนและพักนอนที่โรงเรียนบ้านผีปานเหนือได้ ขณะที่โรงเรียนบ้านผีปานเหนือซึ่งเป็นโรงเรียนแม่เอง ก็ยังขาดแคลนในเรื่องสื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก จึงทำให้โรงเรียนห้วยบงที่เป็นโรงเรียนสาขา ขาดแคลนเรื่องสื่อ วัสดุอุปกรณ์การเรียน ขาดไฟฟ้า โดยเฉพาะน้ำสะอาดที่ใช้ในโรงเรียน เด็ก ๆ จึงต้อง หิ้วน้ำใส่แกลลอนเพื่อนำไปใช้ดื่มกินที่โรงเรียน
ด้วยความมุ่งมั่นของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย และชีวิตความเป็นอยู่ จึงได้เข้าไปให้การช่วยเหลือเด็กในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ซึ่งก็ได้เพียงแต่บรรเทาเบาบางในบางส่วน มูลนิธิฯ จึงต้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านั้น มูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันมีพื้นที่การดำเนินงาน ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.จอมทอง อ.อมก๋อย อ.แม่อาย อ.สะเมิง อ.แม่วาง และ อ.กัลยาณิวัฒนา ดูแลและช่วยเหลือเด็ก ๆ จำนวนถึง 1,249 คน ผ่านโครงการมอบทุนการศึกษา โครงการคลังอาหารในครัวเรือน โครงการเสริมภูมิรู้วิถีชีวิตแนวใหม่เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก โครงการเด็กและเยาวชน CCF อาสาทำดีเพื่อสังคมเป็นสุข