“ปูผา” ปูพื้นถิ่นบ้านเพีย จ.อุตรดิตถ์
“ปูผา” หาตัวยาก ปีนป่ายเก่ง หลบหนีเร็ว อาศัยในลำห้วยใสสะอาด พบได้ที่บ้านเพีย ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ แหล่งอาศัยที่มีสัตว์น้ำนานาชนิดซุกซ่อนอยู่ในป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในขณะนี้ปูผากำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การจับปูผาในฤดูขยายพันธุ์ทำให้จำนวนปูผาลดลงอย่างรวดเร็ว หากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้
ปูผาบ้านเพีย เป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดตัวใหญ่ มีกระดองสีน้ำตาล ขาของมันจะมีขนเล็กน้อย มีความสามารถในการปีนป่ายและการหลบหนีค่อนข้างเร็ว อาศัยอยู่ในลำห้วยในป่าลึก ในน้ำที่สะอาดบริเวณที่มีน้ำไหลผ่าน ตามซอกหิน ซึ่งอาหารของปูค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสิ่งที่หาได้ในแหล่งน้ำที่อาศัยอยู่ เช่น ใบไม้ที่ร่วงลงน้ำ ตะไคร่น้ำ และพืชน้ำชนิดต่าง ๆ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ลูกปลา หอย ปูตัวเล็กกว่า แมลงน้ำหรือซากสัตว์ที่ตายแล้ว
พ่อของน้องอาร์ต อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเพีย เล่าให้น้องอาร์ต น้องภูผา น้องอิ้ว ซึ่งเป็นเด็กในโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. ฟังว่า “สมัยที่ผมยังเป็นเด็กก็เคยวิ่งไล่จับปูตามลำห้วย ช่วงปลายฝนต้นหนาวในแต่ละปี ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูที่ปูผาจะออกจากรูออกมาหากินในช่วงกลางคืน แต่เดี๋ยวนี้ปูผามีจำนวนน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต เนื่องจากถูกนำมากินเป็นอาหารกันมานาน ผมคิดว่าเราต้องอนุรักษ์ปูผาไว้ให้อยู่กับธรรมชาติบ้านเรา เพราะปูใกล้จะสูญพันธุ์”
นายอาทิตย์ ทุมมา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ประจำหน่วย ส.ญ.1 บ้านต้นขนุน กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้หน่วยพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ประจำหน่วย ส.ญ.1 บ้านต้นขนุน มีการห้ามล่าปูผา ในช่วงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้านมักจะหาปูผาเพื่อมาประกอบอาหารกินในครอบครัว แต่ภายหลังมีการจับปูผาเพื่อนำไปขายมากขึ้น ส่งผลให้ปูผาลดน้อยลดอย่างรวดเร็ว ทางอุทยานฯ จึงได้ระดมความร่วมมือกับผู้นำชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องช่วยกันในการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านงดหาปูผาในช่วงฤดูผสมพันธ์และวางไข่
น้องพิชญาภา เด็ก ซี.ซี.เอฟ. หนึ่งในผู้ร่วมทำกิจกรรมความดีด้านจิตอาสา เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนมีปูผามากกว่านี้ เดี๋ยวนี้ปูผามีจำนวนน้อยลง จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ เด็ก ๆ น้อง ๆ ได้เห็นและรู้จักว่าปูผาเป็นอย่างไรมีลักษณะแบบไหนและอยากให้งดการจับปูผาในฤดูกาลวางไข่ เพราะอยากให้ปูผามีจำนวนมาก ๆ ขึ้นค่ะ”
ในอดีต “ปูผา” เป็นอาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านจะนำมาประกอบอาหารตามวิถี แต่ปัจจุบันจำนวน “ปูผา” ลดลงอย่างมาก ทำให้คนในชุมชน เด็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “การปล่อยปูผาคืนสู่ธรรมชาติ” เพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ปูผาให้คงอยู่ในผืนป่าให้มากที่สุด เพราะข้อดีของการเพิ่มจำนวนปู คือ การช่วยฟื้นฟูธรรมชาติให้ป่าคงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพฤติกรรมของปูเป็นสัตว์ที่ชอบขุดและอาศัยอยู่ในรู จึงทำให้ดินบริเวณที่ปูอาศัยเป็นดินที่ร่วนซุย ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี
เผยแพร่เมื่อ : 24 มกราคม 2568