“จะทอผ้าเพื่อสืบทอด ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ต่อ” นางลูนวัย ใจจาน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านแม่จองไฟ ได้พูดคุยกับเรา ในขณะที่พวกเราเจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. ได้ลงไปยังพื้นที่เพื่อเยี่ยมเด็ก พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านแม่จองไฟ เป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่มีการแตกกลุ่มกระจายกันออกไปได้อพยพแยกออกมาตั้งบ้านเรือนที่ห้วยแม่จองไฟ ซึ่งเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาของพื้นที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เพื่อทำการเกษตร เพาะปลูก ทำไร่ ทำนา
ครอบครัวของตนเองมีสมาชิกอยู่ด้วยกัน 5 คน อาชีพทำไร่ทำนา แต่ด้วยผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ส่งเสริมให้ครอบคร้ว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงต้องหาอาชีพอื่นมาเสริมเพื่อให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น และด้วยตัวเองมีความสามารถในการทอผ้าและมีอุปกรณ์ทอผ้าอยู่แล้ว จึงได้ชักชวนให้คนในหมู่บ้าน ตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา “หลังจากฤดูทำนาก็จะทุ่มเทเวลา มาทอผ้าเพื่อขาย รวมกลุ่มกันขาย ทำให้ขายง่ายและเกิดรายได้แก่ครอบครัวเพิ่มขึ้น และยังช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ในหมู่บ้านการทอผ้ากระเหรี่ยง ทอกี่เอว อีกด้วย”
นอกจากที่จะทอผ้าด้วยตนเองแล้ว ก็ยังสอนให้หลานสาวของตนเองและเด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้ฝึกหัดและทอผ้า เพื่อจะช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าด้วยกี่เอวแบบดั้งเดิมของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือแบบกี่กระตุกของคนพื้นเมือง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าตีนจก ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า ย่าม และอื่น ๆ รวมไปถึงยังได้นำไปถ่ายทอดเผยแพร่ความรู้สำหรับเด็กในโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ และมีศูนย์ทอผ้าในหมู่บ้าน สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจทั่วไป
นางลูนวัย ยังได้กล่าวบอกกับเราอีกว่า “กลุ่มทอผ้าบ้านแม่จองไฟ ได้รับโอกาสที่ดี ๆ ด้วยมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชนฯ สำนักงานโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดแพร่ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ในการทอผ้า เส้นฝ้าย และแนะนำการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าได้มีอุปกรณ์ในการจัดเตรียมเส้นด้ายอย่างเพียงพอ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มให้ผลิตผ้าได้มีคุณภาพยิ่งขึ้น”
นอกเหนือจากงานทอผ้าที่ทำแล้ว นางลูนวัย ใจจาน ยังเป็นผู้ที่มีจิตใจดี เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกำลังแรงกาย เสียสละสิ่งที่ตนเองมี เสียสละเวลาเพื่อทำงานให้กับส่วนรวม โดยช่วยเหลืองานกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ สำนักงานจังหวัดแพร่ เป็นกรรมการ เป็นอาสาสมัครในชุมชนเป็นระยะเวลามานานกว่า 20 ปี อุทิศตนเพื่อส่วนรวมในการช่วยเหลือเด็กติดตามดูแลเด็กๆ ในความอุปการะของมูลนิธิฯ โดยไม่ได้หวังผลหรือหวังสิ่งตอบแทนใดๆ เป็นการทำเพื่อพัฒนาสังคมส่วนรวมโดยแท้จริง
“การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงานนั้นออกมาได้ดี และสำเร็จลุล่วง การทำงานจิตอาสาก็เหมือนเป็นการพัฒนาตนเอง และได้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิต และเกิดความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน” น้ำเสียงที่นางลูนวัย ได้กล่าวบอกแม้นจะไม่ชัดถ้อยชัดคำ ด้วยเพราะเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แต่ก็แฝงไปด้วยความรู้สึกที่มีความสุขความภาคภูมิใจ
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ที่จังหวัดแพร่มา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันมีพื้นที่การดำเนินงาน ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลอง และอำภอวังชิ้น กว่า 9 ตำบล 57 หมู่บ้าน มีเด็กในความดูแลและช่วยเหลือทั้งหมดจำนวนถึง 1,831 คน ผ่านโครงการมอบทุนการศึกษา โครงการเสริมภูมิรู้วิถีชีวิติแนวใหม่เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ