เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเมื่อ มกราคม 2563 หลังจากนั้นมีการประกาศการปิดเมือง ปิดหมู่บ้าน ปิดสถานประกอบการทุกประเภท ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงด้านอาหารการกิน ที่ก่อนหน้านั้นวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่มักจะอาศัยและหาซื้ออาหารวัตถุดิบของกินจากรถพุ่มพวง ตลาดเคลื่อนที่ซึ่งเต็มไปด้วยของกินและวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ซึ่งมักจะขับรถเข้าไปยังตรอก ซอก ซอย จนถึงประตูรั้วหน้าบ้าน เมื่อเกิดวิกฤตหมู่บ้านถูกปิด ห้ามเข้า-ออก ก็ไม่สามารถซื้อหาอาหารจากรถพุ่มพวงได้ อีกทั้งในหมู่บ้านก็มีแหล่งอาหารที่ไม่เพียงพอต่อครัวเรือนทำให้คนในชุมชนเกิดสภาพขาดแคลนอาหาร
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ โดยสำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้หารือกับผู้นำชุมชน ในการนำประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อร่วมกันสร้างแหล่งอาหารในชุมชนขึ้น พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านกว่า 8 ไร่ ที่ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงถูกนำมาปรับเป็นแปลงเกษตรเพื่อสร้างเป็นแหล่งอาหารในชุมชน
คุณพ่อทองคำ ผู้ใหญ่บ้านห้วยยางทอง อีกทั้งยังเป็นกรรมการ(อาสาสมัคร) ของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ สำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า “ได้มีการพูดคุยและหารือกันถึงการสร้างแหล่งอาหารในชุมชนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนจะต้องร่วมมือกันใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ ไปทำเป็นพื้นที่การเกษตรของชุมชน ประกอบกับทางมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ได้มีโครงการเกษตรมื้อนี้เพื่อน้องในชุมชน โดยให้ชุมชนมีการวางแผนปลูกผักในพื้นที่สาธารณะร่วมกัน แบ่งปันผลผลิตพืชผักสวนครัวสู่ชุมชน เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันผลผลิตในชุมชนขึ้น”
โดยมีการตั้งกรรมการพัฒนาแหล่งอาหารในชุมชน ให้ผู้นำคุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน 4 คุ้ม เป็นหัวหน้ากลุ่มในการรับผิดชอบบ่อปลา “พื้นที่ว่างเปล่าปรับพื้นที่เป็นเกษตรแปลงใหญ่ มีการแบ่งเป็นแปลงแล้วแต่ใครจะปลูกผักชี กระหล่ำปลี แตงกวา พริก มะเขือ จัดเวรกันในการดูแล รดน้ำผัก ให้อาหารปลา เด็ก ๆ จะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเพื่อมารดน้ำผักที่ตนเองและผู้ปกครองได้ปลูกไว้” คุณพ่อทองคำ เล่าเพิ่มเติมถึงกระบวนการวิธีการบริหารจัดการพื้นที่แปลงเกษตรแปลงใหญ่
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ เป็นองค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม มุ่งพัฒนาเด็ก และเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ได้รับโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งถือได้ว่าโครงการเกษตรมื้อนี้เพื่อน้องในชุมชนบ้านห้วยยางทอง ที่ดำเนินการโดยสำนักงานพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ถึง 298 คน 70 ครัวเรือน เป็นกิจกรรมที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการเกษตรเพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชน รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาการและภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและชุมชนอย่างต่อเนื่อง