รู้สู้ภัยพิบัติ จ.นราธิวาส
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากในภาษาไทยว่า "โลกร้อน" คือ การที่อุณภูมิเฉลี่ยโลกและสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง “อุ่นขึ้น” ในระยะยาว สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากน้ำมือมนุษย์นั่นเอง เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงในบ้าน โรงงานและยานพาหนะ ทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดพายุ น้ำท่วมและผลผลิตทางอาหารลดลง ฯลฯ
เมื่อโลกมีเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตาม
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพื้นที่ดำเนินงาน จ.นราธิวาสจึงจัดกิจกรรม Day Camp "อบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ให้กับเด็กและเยาวชนรวมทั้งผู้ปกครองเด็ก จำนวน 899 คน ได้ตระหนักถึงภัยพิบัติธรรมชาติที่ต้องระวัง เช่น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม เป็นต้น ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจาก อบต.ลำภู จ.นราธิวาส นำโดย พ.จ.ต.ปฐมพงศ์ ศรีสังข์ เจ้าพนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยชำนาญงานหน่วยงานสำนักปลัด อบต.ลำภู จ.นราธิวาส นายสาและ บินหะยีกอเดร์ เจ้าหน้าที่ทั่วไปและคณะรวม 7 คน เป็นให้ความรู้เด็กทั้งด้านทฤษฎีและการลองฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลองต่าง ๆ เช่น การสาธิตลำเลียงคนข้ามแม่น้ำเมื่อน้ำท่วม การเรียนรู้วิธีการผูกเชือกให้แข็งแรงและถูกต้องปลอดภัยแก่ชีวิต
นางยุวดี มณีโชติ กรรมการเขตบริการตำบลสุคิริน เล่าถึงความประทับใจจากกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นทำให้ทุกคนสนุกสนาน ได้ความรู้ เด็ก ๆ ได้ลุ้นและตื่นเต้นกับสถานการณ์จำลองที่อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ และสุดท้ายต้องขอขอบคุณทีมวิทยากรที่จำลองเหตุการณ์ให้เราได้ฝึกใช้สติ เมื่อต้องอยู่ในเหตุการณ์ที่คับขันและต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นให้ทันท่วงที”
เผยแพร่เมื่อ : 2 ตุลาคม 2567