พนักงานสาววางกาแฟลงบนโต๊ะ ในขณะที่ผมเอื้อมมือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นรับเมื่อมีเสียงเรียกเข้า เสียงชายอายุแตะวัยกลางคนปลายสาย แจ้งการมาถึงตามนัดหมายของเรา ผมก็บอกตำแหน่งร้านกาแฟในห้างดังกลางเมืองหลวงที่ผมนั่งรอเขาอยู่ แล้วจึงวางสาย ผมตั้งใจจะนัดหมายการสัมภาษณ์เขาที่นี่ เนื่องจากมันใกล้กับสถานฑูตอเมริกา ที่เขาต้องพาเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งมาทำเรื่องขอวีซ่าเพื่อเดินทางไป เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนหน้า (กันยายน 2556) เพื่อไปรับรางวัลที่ 1 ระดับโลกจากการประกวดภาพวาดที่เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเขาเป็น "ผู้อยู่เบื้องหลัง" ความสำเร็จดังกล่าว
"สิทธิชัย จันทร์คลาย" หรือที่เด็กๆ และชาวบ้านเรียกเขาว่า "ครูกรุง" แห่งโรงเรียนบ้านไทยสามัคคี ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ชายหนุ่มที่ใครต่อใครบอกผมว่า นี่คือบุคลากรทางการศึกษาของสังคมไทยที่น่าชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง "ศิลปินน้อย" ที่คว้ารางวัลในระดับประเทศและระดับโลกเป็นว่าเล่น
จากข้อมูลที่ได้มาผมรู้เพียงว่า เขาตั้ง "ชมรมศิลปะเด็กชายแดน" (นั่นเพราะอำเภอตาพระยา เป็นอำเภอชายแดน) ชวนเด็กๆ มาทำงานศิลปะในตอนเย็นๆ หลังเลิกเรียน และในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยใช้อาคารโรงอาหารที่โรงเรียนเป็นที่ทำกิจกรรม ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. โดยปัจจุบันมีเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรม 30-40 คน
เมื่อเขามาถึง ผมแปลกใจนิดๆ เมื่อเห็นเขาในครั้งแรก เขาดูหนุ่ม เรียบร้อย และหน้าตาดีกว่าที่ผมจินตนาการเอาไว้ว่าน่าจะมีภาพลักษณ์ของศิลปิน ติสๆ ผมยาวแบบนักเรียนช่างศิลป์อะไรแบบนั้น ทำให้เพิ่มความอยากรู้มากขึ้นไปอีกว่า เขาทำอย่างไร ถึงสามารถทำให้เด็กๆ ในการดูแลของเขาสร้างงานศิลปะที่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้
"ผมเป็นคนสระแก้ว คนตาพระยานี่แหละ แต่อยู่ในตัวอำเภอ" เขาเริ่มแนะนำตัว แล้วเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ฟัง
"วัยเด็กผมก็ฝันอยากเป็นอะไรต่อมิอะไรหลายสิ่งอย่างอ่ะนะ อยากเป็นสถาปนิก อยากเป็นครู อยากเป็นหมอ ตามประสา หนึ่งในความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นครู เพราะพ่อผมเป็นครู ตอนเด็กๆ ผมจะนั่งซ้อนจักรยานไปโรงเรียนกับพ่อ ผมยังไม่เข้าเรียนน่ะ แต่เราก็ไปเรียนกับพวก ป.1 ป.2 เสาร์อาทิตย์พ่อก็พาปั่นจักรยานไปหว่านแหจับปลา เราก็รู้สึกเราชอบความเป็นชนบท คือมันอยู่ในตัวเราเยอะ อีกอย่างผมชอบดูรายการ โรงเรียนของหนู ก็เห็นภาพครูบนดอยไกลๆ ลำบากๆ อะไรประมาณนี้ ...แต่มีครั้งหนึ่งตอนนั้นประมาณปี 2535-2536 นี่แหละ ผมอายุสัก 14-15 ปี (เรียนอยู่ ม.4) ได้ไปขาย ปอ กับคุณอา ตอนนั้นถนนเป็นลูกรังดินแดง ก็คือพูดง่ายๆ คือมันไม่เจริญเลย ระหว่างทางผมก็ผ่านโรงเรียนเล็กๆ ไม่มีป้ายชื่อ ก็ไม่รู้ว่าคือโรงเรียนอะไร มีแค่เสาธงที่ทำจากไม้ไผ่ผุๆ อาคารเรียนโทรมๆ มุงแฝกแล้วก็มีแต่เสา ไม่มีฝา โล่งๆ รอบๆ ก็เป็นป่าเต็มเลย โห...ภาพมันติดตาเลย ไม่รู้อะไรดลใจครับ...ผมหลับตาแล้วอธิษฐานว่า ถ้าผมจะได้เป็นครู...ขอมาเป็นครูที่โรงเรียนนี้ ทั้งๆ ที่ผมเองยังไม่รู้เลยว่าจะได้เป็นครูหรือเปล่า..."
ครูกรุง ยอบรับด้วยรอยยิ้มว่า เป็นเพราะในใจมีภาพความใฝ่ฝันที่สวยงามที่ปราศจากเงื่อนไข ที่ส่งให้ชีวิตเด็กหนุ่มบ้านนอก ตกลงใจจะเดินในเส้นทางชีวิตเส้นนี้
"จากนั้น... ก็... สอบติดมหา'ลัย ก็หลายที่นะ แต่สุดท้ายก็เลือกเป็นครู ผมเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกประถมศึกษา (คุรุทายาท) มหาวิทยาลัยบูรพา สายครูโดยตรงเลย"
ในระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย ครูกรุง ก็ทำกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะออกค่ายอาสา สภานิสิต องค์การนักศึกษา หลายชมรม
"ผมเป็น นิสิตคุรุทายาท ไม่กี่คนที่บ้าทำกิจกรรม" เขายืนยัน
คุรุทายาท เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยของรัฐ คัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนดี (เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป) เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และต้องมีผลการเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องในระหว่างเรียน ไม่ให้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.0 มิฉะนั้นก็จะถูกคัดออกจากโครงการ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นราชการครูในเขตภูมิลำเนาของตนเอง โดยไม่ต้องสอบบรรจุ (ข้อเขียน) แต่ต้องสอบสัมภาษณ์เพื่อจัดอันดับในการเลือกโรงเรียนบรรจุก่อนหลัง
"ผมจบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.5 แต่เพื่อนๆ เราเขา 3.7, 3.8, 3.9 กัน ตอนสอบสัมภาษณ์ เขาก็ถามเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เราอยู่มหา'ลัย เราทำอะไร แล้วเราจะเอามาใช้ยังไง ผมก็เล่าเรื่องที่ทำกิจกรรมนี่แหละ ผลสอบออกมา ผมได้ที่ 1"
และแล้ว... เมื่อคำอธิษฐานในวัยเยาว์เกิดผล
"...พ่อผมบอกว่า ถ้ามีโรงเรียนไหนในอำเภอตาพระยาว่างก็เลือกไปเลย ปรากฎว่าก็ว่างอยู่แค่ 1 โรงเรียน ก็คือ โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี ก็เลือก... พออยู่ไปได้สัก 2-3 เดือน ในวงทานข้าวก็ได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน ผมก็เล่าเรื่องตอนเด็กให้ฟัง พร้อมถาม ผอ. โรงเรียนนั้นที่ลักษณะแบบนั้น ที่เราเคยเห็นตอนมาขาย ปอ เนี่ยอยู่ที่ไหน... ผมอยากไปเยี่ยมโรงเรียนนี้ ผมว่าน่าจะถนนเส้นนี้แหละ ผมคุ้นๆ ก็เล่าๆๆ ผอ. บอกว่า คุณดูขนผมลุกสิ! ไอ้ที่คุณพูดมามันก็โรงเรียนนี้แหละ! คือ มันเปลี่ยนไปเยอะครับ จากสภาพเดิมมันไม่เหลือแล้ว ได้งบประมาณ เสาธง อาคารเรียน สนามกีฬา ผอ. ก็ชี้ให้ดูว่าอาคารเก่าหลังนั้นเคยอยู่ตรงนี้ ตรงนั้นเปลี่ยนไปแบบนี้... อะไรอย่างเงี้ย เราก็...อ๋อ!"
ด้วยความที่ตัวเองเป็น Activist ชนิดเข้าเส้น บวกกับไฟปรารถนา ความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนของชาติ ทำให้ ครูกรุงพาเด็กนักเรียนทำกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะค่ายวิชาการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เขียนเรียงความ กีฬา แต่เขาพบว่าสิ่งที่เด็กๆ ตอบสนองและเข้าถึงได้ดีที่สุด และที่สำคัญคือ เด็กๆ ฉายแววพรสวรรค์ในตัวออกมาอย่างเด่นชัด คือ "ศิลปะ"
"...คือ เด็กเราเก่ง ผมเคยฝึกสอนสาธิต เคยสอนลูกหมอ ลูกวิศวะ เด็กสาธิต ม.บูรพา ลูกคนรวยอ่ะว่างั้น มันเลยได้เปรียบเทียบ เฮ้ย..! เด็กเราเก่ง เก่งกว่าด้วย แต่เขาขาดโอกาสเท่านั้นเอง ลายเส้นเขาเก่ง แต่ลงสีไม่เป็น ถ้าให้วาด เขาจะวาดสวยมาก ละเอียดละออ แล้วไม่ได้เก่งเฉพาะศิลปะนะ เรียนก็ดีด้วย เรารู้สึกว่า เหมือนลูกหมอลูกวิศวะที่เราเคยสอนนั้นแหละ เพียงแต่เด็กกลุ่มนั้นโชคดี Summer ได้ไปออสเตรเลีย แต่เด็กเราไม่มีโอกาสไง มันก็จุดประกายผม เอ๊ะ...เราจะทำยังไง ให้เด็กเรามีโอกาสแบบนั้นบ้าง ก็เลย...คิดว่าน่าจะใช้การ ประกวด นี่แหละ"
แต่ ครูกรุง ยืนยันว่ารางวัลไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่มันเป็นกำลังใจ และสามารถจุดประกายฝันให้เด็กๆ ได้ เขาจึงเริ่มดำเนินกิจกรรมในนาม "ชมรมศิลปะเด็กชายแดน" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
"เมื่อก่อนไม่มี Internet ผมก็ดูข่าวประกวดจากหนังสือพิมพ์ จะมีข่าวสารกิจกรรมนอกตำรา ผมก็ชวนเด็กๆ ว่า เราลองดูไหม... ก็ลองทำงานส่งประกวดดู ช่วงแรกๆ 2-3 ปีแรกไม่ได้รางวัลอะไรเลยนะ การประกวดในประเทศนี้เราไม่ได้เลย จากนั้นหลังๆ เราก็ลองส่งเวทีนานาชาติ ก็เริ่มได้รางวัลเหรียญทองแดงบ้าง เหรียญเงินบ้าง รางวัลชมเชยบ้าง"
แล้ว "รางวัลแห่งชีวิต" ก็มาถึงเขาและเด็กๆ กับตำแหน่ง "ที่ 1 ของโลก" เมื่อ "เด็กหญิงจิรัชญา แก้วกำกง" หรือ "น้องหนิง" อายุ 12 ปี หนึ่งใน ชมรมศิลปะเด็กชายแดน ที่เขาดูแล คว้ารางวัลที่ 1 จาก การประกวดวาดภาพสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP Global Art and Environment Competition) ในหัวข้อ "น้ำคือชีวิต" ของ UNEP (United Nations Environment Programme) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยผู้ส่งผลงานจะต้องมีอายุ 6-16 ปี และในปี 2556 มีผู้ส่งผลงานกว่า 700,000 ภาพจาก 190 ประเทศทั่วโลก
"น้องหนิง" เด็กหญิงที่มากับเขาด้วยในวันนี้ มาทำวีซ่าเพื่อเดินทางไป UN สำนักงานใหญ่ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับรางวัลและเข้าร่วมประชุมด้านสิ่งแวดล้อมโลกกับเด็กๆ และเยาวชนจากทั่วโลก
ภาพวาด "น้ำคือชีวิต" ของจิรัชญา แก้วกำกง
(จากซ้ายไปขวา) คุณพ่อ คุณแม่ น้องหนิง และครูสิทธิชัย เดินทางมากรุงเทพฯ ขอวีซ่าไปนิวยอร์ก เพื่อรับรางวัล
ความเป็นเลิศของเด็กๆ ที่ฉายประกายออกมาเช่นนี้ หลายคนคงนึกว่า ครูกรุงคงจะต้องฝึกสอนเทคนิคทางศิลปะให้เด็กๆ อย่างเข้มข้น จนสามารถสร้างงานที่ได้รางวัลใหญ่ขนาดนี้ ...แต่เปล่าเลย! เขาไม่สนใจเรื่องเทคนิคเลยด้วยซ้ำไป แต่ "ชมรม" ของเขามีกิจกรรมตามหลักง่ายๆ ก็คือ สนุกและได้ความรู้ ที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น "ชมรมที่มีชีวิต"
"เราไม่ได้มุ่งจะให้เขาเก่งชั้นเลิศทางศิลปะหรือวาดภาพนะ ไม่ใช่ Main Idea นะ แต่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้และเพื่อสร้างโอกาส ตอนแรกไม่ได้คิดถึงโอกาสที่จะไปต่างประเทศด้วยซ้ำ เอาแค่ได้ไปกรุงเทพฯ เปิดโลกทัศน์เขา มีประสบการณ์แค่นั้นเอง ถ้าเราจะไปสู้กับเด็กในเมืองในเรื่องวิชาการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์นี่ มันค่อนข้างจะยากเพราะเราไกลสื่อ แต่ศิลปะนี่ ผมว่ามันอยู่ในตัวเด็กทุกคนอยู่แล้ว แต่ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ไอ้ที่สอนๆ ไปนั้น มันถูกหลักทฤษฎีทางศิลปะไหม" เขาพูดไป ยิ้มไป แล้วหัวเราะเบาๆ เมื่อสิ้นเสียง
"ผมสอนศิลปะ ให้เขาทำงานศิลปะ ไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องเป็นศิลปินนะ เพียงแต่ให้เขารักศิลปะ มีสุนทรียะเท่านั้นเอง คือมีความสุขกับการทำงานศิลปะ แต่สุดท้ายเขาอยากจะเป็น หมอ ครู ทหาร ตำรวจ ก็แล้วแต่เขา ผมคิดว่าศิลปะน่าจะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เรื่องหลัก คือ...เราจะสร้างเด็กพวกนี้ยังไง จะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมยังไง ผมจะมาโรงเรียนทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็มา ชวนเด็กมา วันนี้เราวาดภาพนะ วันนี้เรามาเตรียมค่าย ทำหนังสือทำมือกัน หรือวันนี้เราเดินป่าปีนเขากัน ไปนาไปทุ่งกัน ไปวัด ทำบุญ นั่งสมาธิ
ส่วนเรื่องเทคนิคไม่มีเลย แค่เราดึงความคิดของเด็กออกมาให้ได้ ชิ้นงานของเขาจะต้องมาจากตัวของเขาเอง ให้เขาคิด ให้เขาร่างมา คิดเนื้อหาให้ได้ก่อน ผมไม่ได้สอนเรื่องวาดเส้นอะไรนะ เด็กเขาเรียนในห้องอยู่แล้ว แล้วเขาพอมีทักษะการวาดภาพในตัวอยู่ มากน้อยแล้วแต่คน ที่เราเรียกว่าพรสวรรค์นั่นแหละ วาดมาเลยจะเป็นตัวไม่เป็นตัว สวยไม่สวย ผมไม่สนใจ แต่นี่คือ Idea ของเขา แต่เนื้อหาต่างหากที่ผมมีหลักว่าอยากให้เขาคิดอะไรนอกกรอบ เป็นคำถามเปิดให้ใช้จินตนาการ เชิงออกแบบ Design ต้องมีหัวข้อที่ท้าทายเขาหน่อย กระตุ้นความคิดเขา อย่างเช่น เอ้า...นักเรียนวันนี้เราจะวาด แว่นตาในอีก 50 ปีข้างหน้า ลองคิดดูว่าอีก 50 ปี แว่นตาเราจะเป็นแบบไหน หรือวาดสัตว์ที่ไม่มีในโลก ดูสิหน้าตามันเป็นแบบไหน หรือถ้าน้ำท่วมโลกจะเกิดอะไรขึ้น ...แบบนี้เด็กจะสนุก ผมก็ให้เด็กทำ Mind Map แบบง่ายๆ แรกๆ ผมเขียนบนกระดานให้ เขาพูด เราเขียนให้เขาดู หลังๆ ก็ค่อยๆ ลองให้เขาเขียนดูเอง ประกวดวาดภาพ UNEP น้ำมีชีวิต ก็ใช้วิธีนี้
ผมว่าความคิดนี่สำคัญ แต่หลังจากเด็กร่างมาแล้ว วาดมาแล้ว เราถึงมาดูว่างานเด็กจะไปทิศทางไหน เหมาะจะใช้สีอะไร เทคนิคอะไร เด็กก็จะเรียนรู้เองด้วย เราก็จะคุยกับเขา แบบนี้ดีไหม แบบนั้นดีไหม เราลองแบบนี้กันไหม... เด็กไม่ค่อยปฏิเสธหรอก เขาไม่รู้ไงว่าต้องยังไง เขาก็ ครับๆๆ ผมถึงใส่เรื่องเทคนิคลงไป เรื่องเทคนิคผมมีพื้นฐาน แต่บางทีเราก็ได้เรียนรู้ร่วมกันไปด้วยกับเด็ก โดยเฉพาะ ป.1 ป.2 ผมจะเน้นมาก จะสร้างเขาก็ต้องในวัยนี้ เน้น...เฮ้ย...คุณต้องคิดเองนะ แล้วเราค่อยๆ สอน ค่อยๆ ประคองไป พอ ป.3 ขึ้นไปผมปล่อยแล้ว คือ ให้คิดหาเทคนิคเองแล้ว"
นับเป็น 15 ปีผ่าน หลายๆ รุ่น หลายคน ที่ ครูกรุง ใช้วิธีการของเขาเสกสรรค์ปั้นแต่งชีวิตเด็กน้อยหลายสิบ หลายร้อยคน ด้วยวิธีการดำเนินกิจกรรมทำให้เขารู้จักตัวตนของเด็กในความดูแลเป็นอย่างดี ตัวอย่างเด็กรายหนึ่งที่ตัวเขาถึึงขนาดออกทุนส่วนตัวเป็นค่าเทอม เพื่อให้เด็กได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จนจบวิศวะไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพราะเห็นแววที่ตัวเด็กฉายแววนักประดิษฐ์มาตั้งแต่ ป.4 ถึงขนาดสร้างเครื่องบินบังคับได้ ตอนเรียนก็เข้าแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ จนได้รางวัลระดับประเทศ ที่สุดปัจจุบันทำงานอยู่ Seagate หรืออีกหลายรายที่ ครูกรุง ติดตามถามไถ่ ดูแล ส่งเสริม ให้เด็กนักเรียนของเขาทุกๆ รุ่น ได้เรียนต่อเท่าที่ตัวเด็กเองสามารถเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วยังคอยช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เท่าที่เขาจะพอทำได้ แม้จะไม่สัมฤทธิ์ผลกับทุกๆ คน 100% แต่เขาไม่เคยละความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงมือทำ
"บทเรียนมันหลากหลายครับ คือผมไม่ได้ใช้วิธีการเดียวในการสร้างเด็ก แต่แค่อยากให้เขามีอนาคตที่ดี แล้วผมมีความตั้งใจที่จะทำ เมื่อก่อนเราสู้ด้วยตัวของเราเอง ใช้ทุนตัวเอง ซื้อสีซื้ออุปกรณ์ จากนั้นก็มีโรงเรียนเริ่มสนับสนุน แต่ไม่พอหรอกครับ เพราะเด็กมามากขึ้นเรื่อยๆ เด็กที่จบไปแล้วเราก็ยังดูแล และผมโชคดีมากที่มี ซี.ซี.เอฟ. มาช่วยสนับสนุน
มันเริ่มจากทาง มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เชิญผมไปเป็นวิทยากร เวลามีองค์กรไหนเชิญผมไปเป็นวิทยากร เด็กๆ ก็จะไปเป็นผู้ช่วยวิทยากรด้วยนะ เขาก็จะได้ฝึกได้พัฒนาตัวเองด้วย ซี.ซี.เอฟ. เขาก็มีค่าวิทยากรใส่ซองมาให้ ผมไม่เอาๆ ไม่รับ ช่วยฟรีๆ ก็ให้เอาเงินไปเพิ่มกิจกรรมให้เด็กเราซะ ก็ช่วยฟรีทำงานร่วมกันมา 3-4 ปี จนได้รับการสนับสนุนกิจกรรมโดยตรง ผมรู้สึกว่า เออ...เราโชคดีนะที่ได้มาเจอ ซี.ซี.เอฟ. คือเขาไม่ได้แค่ครั้งเดียวกับเรามันมีความต่อเนื่อง เราก็ต้องทำให้มันดีขึ้นๆ "
ผมยกกาแฟขึ้นดื่มหลังจากรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวที่ผมกำลังเรียบเรียงวนไปวนมาในหัว จนตอนนี้ผมนึกคำถามที่จะถามเขาไม่ออกอีกแล้ว ผลงานที่ประจักษ์ ระยะเวลาที่พิสูจน์ ยืนยันตัวเองในทุกแง่มุมของผู้ชายคนนี้
- เด็กหญิงจิรัชญา แก้วกำกง อายุ 12 ปี - รางวัลที่ 1 ระดับโลก การประกวดวาดภาพสิ่งแวดล้อมโลก หัวข้อ "น้ำคือชีวิต" ของ UNEP ปี พ.ศ. 2556
- เด็กหญิงวิรันต์ ฮุนทุมมา อายุ 11 ปี - รางวัลที่ 1 ระดับโลก Gold Award โครงการประกวดวาดภาพ Toyota Dream Car Art Contest (รถยนต์ในฝัน) ปี พ.ศ. 2555
- เด็กหญิงวันเพ็ญ คำบุญมา อายุ 11 ปี - รางวัลพิเศษ Best Finalist ปี พ.ศ. 2553 ได้เดินทางไปรับรางวัลที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น
- เด็กชายบุญอนันต์ พรมเพ็ญ อายุ 10 ปี - รางวัลที่ 2 ระดับโลก การประกวดวาดภาพ The 3Th Kao International Environment Painting Contest for Children ปี พ.ศ. 2555 เป็นการประกวดวาดภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่สื่อถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- เด็กหญิงกานต์ธิดา คำกลอง อายุ 12 ปี - รางวัลที่ 1 ระดับโลก การประกวดวาดภาพมิตรภาพในความแตกต่าง ได้เดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟินแลนด์
- เด็กชายอัฐพล วิโรจน์รัตน์ อายุ 13 ปี - รางวัลที่ 1 ระดับเอเชีย การประกวดวาดภาพสิ่งแวดล้อมโลก ของ UNEP ปี พ.ศ. 2555
- เด็กหญิงเปรมวดี แก้วกำกง อายุ 12 ปี - รางวัลที่ 1 ระดับโลก รางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น มูลนิธิ MOA และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ปี พ.ศ. 2555
เอาแค่คร่าวๆ พอนะ...
"ไม่รู้มันใหญ่ไปไหม" เขาตอบ แล้วยิ้มเล็กๆ เมื่อผมถามถึงอนาคต ยังมีอะไรที่ยังอยากทำอีก
"ผมอยากมีอาคารศิลปะ เป็นหอศิลป์ เป็นที่ให้เด็กๆ ได้ทำงาน มีที่พักให้เด็ก มีพื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ ให้ชาวบ้านหรือโรงเรียนอื่นๆ ได้มาใช้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เน้นพัฒนาศักยภาพตามทฤษฎีพหุปัญญา โดยเน้นการจัดกิจกรรมศิลปะที่หลากหลาย เช่น การวาดภาพ งานประดิษฐ์ ปะตัด งานสร้างสรรค์จินตนาการต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ มาใช้ประโยชน์ในเวลาเรียนและเวลาว่าง มีพื้นที่บริเวณสำหรับฝึกงานศิลปะ"
ความเชื่อที่ว่า คนทุกคนเกิดมาบนโลกด้วยเหตุผลบางอย่าง ไม่มีใครคนไหนเป็นส่วนเกินของโลก ทุกคนมีหน้าที่ มีพื้นที่ และมีคุณค่ากับโลกใบนี้เท่าๆ กัน หากแต่บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาเหตุผลนั้น หลายคนโชคไม่ดี ไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม นั้นอาจจะเป็นเพราะคนเหล่านั้นเริ่มต้นค้นหาผิดทิศผิดทาง คำตอบอาจจะไม่ยากเกินค้นหาหากตั้งหลักปักหมุดได้ถูกที่ถูกทาง เหมือนกับที่ ครูกรุง เริ่มต้นด้วยการให้เด็กๆ รู้จักคุณค่าในตัวเองก่อนผ่านงานศิลปะ
"ครูมีทั้งครูรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ครูมีไฟและครูหมดไฟ ถ้าครูคิดจะทำ... ถ้าโรงเรียนนั้นมีครูที่ทำ ผมว่าโรงเรียนยังไงก็พัฒนาต่อเนื่องไปได้ แม้กระทั่งในเรื่องการสอนให้เด็กคิดนี่ ผู้ใหญ่คิดโจทย์ คิดกิจกรรม หลักสูตรมาให้เด็ก บางทีมันก็ยากเกินอ่ะครับ หรือเราจะวัดผลตัวเด็ก...อย่างเด็กผมวาดภาพ ผมก็มั่นใจว่าเด็กผมมีความคิดสร้างสรรค์ แต่การประเมินของเขา... แหม...มัน มีระเบียบมีอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มากมาย ร้อยแปดพันเก้า"
"ผมว่า... ที่สำคัญอยู่ที่ครู ถ้าครูทำ....ผมเชื่อว่ามีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ" เขาทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่นจริงจัง และจริงใจที่สุดเท่าที่เราสนทนากัน
ครูกรุง เดินจากไปพร้อม น้องหนิง ที่มากับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อเดินทางกลับสระแก้ว ทิ้งความชื่นชมให้ผมทบทวนตัวเอง ว่าเส้นทางชีวิตที่ผมเลือกเดินมีอะไรละม้ายคล้ายคลึงพอที่จะเปลี่ยนโลกแบบเขาได้ไหม และทิ้งความสงสัยให้ผมคิดต่อไปอีกว่า... ในโลกกลมๆ อันกว้างใหญ่ใบนี้...ไม่สิ! เอาแค่บ้านเราก็พอ... ในสังคมไทย...จะมีคนแบบนี้อีกไหม? จะมีครูแบบนี้กี่คน?