การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2564 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยทวีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเกิดกว่าขีดจำกัดของระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่จะสามารถรองรับได้ ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากต่างทยอยเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หวังเพียงจะได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว หรือได้เข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลที่บ้านเกิด ผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการน้อยใช้วิธีการพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทว่าด้วยข้อจำกัดของบ้านที่ไม่มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วนที่ดีพอ ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่สมาชิกในครอบครัว รวมถึงลูก ๆ ที่เป็นเด็กและเยาวชน ในที่สุดจำนวนผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 จึงได้กระจายตัวไปยังทุกจังหวัดของประเทศ
เพื่อเป็นการแยกตัวผู้ป่วยได้รับเชื้อโควิด-19 สู่การรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมกับป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในระดับครัวเรือน มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ โดยการสนับสนุนจาก บริษัท เอส. ซี. ยอห์นสัน แอนด์ ซัน จำกัด (SC Johnson) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข ผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาชุมชน ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยชุมชน” ขึ้น 31 แห่ง ใน 30 จังหวัด สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย (ระดับอาการสีเขียว) ได้รวมทั้งสิ้น 4,645 ราย
นางเกสร วันคอยท่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าด้วง จ.เพชรบูรณ์ กล่าวถึงความช่วยเหลือในการร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชนว่า “ต.ท่าด้วง มีผู้ป่วยที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ที่มีการระบาดรุนแรง แจ้งความประสงค์จะกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านหลายราย แต่ด้วยความไม่พร้อมต่าง ๆ ผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวจำเป็นจะต้องนำเครื่องใช้ส่วนตัว ที่นอน และข้าวของต่าง ๆ มาเอง ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ และ SC Johnson ช่วยเหลือให้ศูนย์พักคอยท่าด้วงมีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของเตียงพักสำหรับผู้ป่วย อาหารสำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดระดับออกซิเจน ปรอทวัดไข้ ชุด PPE สำหรับเจ้าหน้าที่ ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ”
นายแพทย์ไพโรจน์ พัวพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชนจากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟฯ และ SC Johnson ได้เป็นตัวแทนผู้ป่วยโควิด-19 และชุมชนกล่าวขอบคุณความช่วยเหลือเพื่อสู้ภัยโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า “ขอบคุณมาก ๆ สำหรับการสนับสนุนทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับศูนย์พักคอยชุมชน รวมถึงอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเป็นการเสริมให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันศูนย์พักคอยชุมชนมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษาตัวประมาณ 100 คน จากสถิติจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ เป็นจำนวนที่ลดลง ซึ่งหวังว่าจะเป็นสถานการณ์ในทิศทางที่การระบาดลดน้อยลงครับ อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคน ก็จะยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ”
จนถึง 8 กันยายน 2564 มีผู้ป่วย 2,230 รายได้รับการดูแลรักษาจนหายเป็นปกติสามารถกลับไปสู่ครอบครัวและดำเนินชีวิตได้ตามปกติแล้ว และยังมีผู้ป่วยอีก 1,501 รายกำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัวในศูนย์ฯ ทั้ง 31 แห่ง
ความเจ็บป่วยจากวิกฤติโรคระบาดได้รับการดูแลรักษา พร้อม ๆ กับการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคในระดับครัวเรือน ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ได้รับปผลกระทบด้านสุขภาพไปด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังแห่งการแบ่งปันเพื่อให้สังคมของเราดีกว่าที่เป็นอยู่จาก SC Johnson