วันที่ 22-23 ธันวาคม 2558 นี้ ได้มีการจัดกิจกรรม เปิดโลกอัจฉริยะ ผ่านแนวคิด STEM ให้ครูและนักเรียนแกนนำกว่า 300 คน จาก 100 โรงเรียน โดยแยกเป็น จ.ปัตตานี 10 โรงเรียน จ.ยะลา 49 โรงเรียน จ.นราธิวาส 41 โรงเรียน ณ สมิหลา แคมป์ปิ้ง แอนด์รีสอร์ท อ.เมือง จังหวัดสงขลา
จากความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับมูลนิธิฯ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว ให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ เพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนให้รู้จักคิดอย่างมีระบบ สามารถค้นหาความรู้ด้วยตัวเองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนและครู รวมถึงเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น
ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรียนรู้ให้เกิดทักษะในการใช้ภาษา กระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ คือกระบวนการเรียนรู้ เชิงบูรณาการด้าน วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ทั้งหมดนี้ คือ STEM และเพื่อที่จะให้การเรียนรู้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จึงมีการเพิ่มทักษะและการเรียนรู้ การอ่าน (Reading) งานศิลปะ (Arts) สังคม ฯลฯ เข้าไป เป็น STREAM ทั้งหมดนี้เพื่อคืนรอยยิ้มให้น้องๆ ชายแดนใต้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ดังนี้
- สนับสนุนทุนการศึกษาจากปี 2555-2558 เด็กทุนจำนวน 855 ราย แยกเป็นเด็กจาก จ.ยะลา จำนวน 499 คน จ.นราธิวาส จำนวน 186 คน และ จ. ปัตตานี 170 คน มูลค่าทุนการศึกษาจำนวน 4,355,000 บาท โดยจ่ายทุนการศึกษาในปี 2558 จำนวน 142 คน จาก 67 โรงเรียน เป็นทุนรวม 1,217,000 บาท
- กิจกรรมเปิดโลกอัจฉริยะ สนับสนุนหนังสือ 140 โรงเรียน ปี 2557/58 ซึ่งในแต่ละชุดประกอบด้วย สารานุกรมวิทยาศาสตร์ หนังสือสนทนาภาษาอังกฤษ หนังสือด้านคณิตศาสตร์ และหนังสือความรู้อาเซียน มอบให้กับโรงเรียนต่างๆ ครอบคลุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 9 เขต ใน 3 จังหวัด มีโรงเรียนที่ได้รับมอบรวม 140 โรงเรียน แยกเป็น จ.ยะลา จำนวน 58 โรงเรียน จ.ปัตตานี 10 โรงเรียน จ.นราธิวาส 72 โรงเรียน มีเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์ 43,272 คน
- ค่ายศิลปะ/ครูนักเรียนเพื่อฟื้นฟูจิตใจเด็กและเยาวชน ที่บอบช้ำจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ กิจกรรม"Art Story ศิลปะเล่าชีวิต เด็กชายแดนใต้"จัดให้เด็กเยาวชนจาก จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี รวม 4 ครั้งเด็กเข้าร่วม 364 คน จากโรงเรียน 183 โรงเรียน ทั้งนี้มูลนิธิฯ ยังมีแผนงานกำหนดจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดอบรม "พัฒนาศักยภาพครูศิลปะ TOT 3 จ.ชายแดนใต้" จำนวน 140 คนจาก 140 โรงเรียน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย ใน วันที่ 21-22 มกราคม 2559 และ 11-12 มกราคม 2559 โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 9 เขต และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อีกด้วย
ดร กรรณชฎา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ได้จัดทำ "โครงการคืนรอยยิ้มสู่...เด็กชายแดนใต้" ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงมาโดยตลอด มูลนิธิฯ จึงมีความต้องการฟื้นฟูสภาพจิตใจนักเรียน พร้อมเชื่อมั่นว่าการเพิ่มทักษะครูในการใช้กระบวนการศิลปะบำบัดจะสามารถลดทอนผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงได้ โดยที่ผ่านมาได้ระทมทุนและน้ำใจจากผู้บริจาคจากสาธารณชนมาช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ให้ได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตไปให้ได้ พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อชดเชยกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ที่มักส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนบ่อยๆ