เก่าเขา ใหม่เรา D.I.Y. ของเหลือใช้สร้างรายได้ “น้องน้ำ” จ.อำนาจเจริญ
เรื่องเล่า ซี.ซี.เอฟ. : สุจิตรา วงพิจิตร หัวหน้าโครงการ ซี.ซี.เอฟ. จ.อำนาจเจริญ
ใจสู้หรือเปล่า ไหวมั้ยบอกมา....
ในวันที่ฝนพรำ พวกเราต่างวิ่งเข้าไปหลบฝนในบ้านเก่าทรุดโทรมหลังเล็กที่มีเพียง “น้องน้ำ” และพ่อ ผู้พิการหูหนวกอาศัยอยู่กันตามลำพัง อาชีพหลักของพ่อคือเก็บของเก่าเหลือใช้จากแหล่งทิ้งขยะต่าง ๆ ในชุมชนหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว
ขณะที่เราทุกคนต่างยืนหลบฝนกันอยู่ใต้หลังคาสังกะสีผุก็พลางกวาดตามองของในบ้าน “ของที่คนอื่นใช้ไม่ได้ แต่ที่บ้านเอามาใช้ได้บ้าง ของเล่นของน้องน้ำเกือบทุกชิ้นมาจากของที่คนอื่นไม่ต้องการแล้ว บ่อยครั้งเมื่อเรามาลงพื้นที่เยี่ยมเด็ก ซี.ซี.เอฟ. ก็มักจะเห็นเพื่อนบ้านข้างเคียงหิ้วถุงดำที่ใส่ของเก่ามาให้ทั้งสองพ่อลูก “คนในหมู่บ้านนี้หลายคนใจดีมาก บางที่ก็มักหยิบยื่นของเก่าที่คัดแยกไว้ ทั้งขวดแก้ว กล่องกระดาษ ไว้ให้พ่อและลูกได้ช่วยกันขนกันกลับไปคัดแยก เพื่อนำไปขายหาเงินซื้ออาหารให้ลูกกินมื้อต่อมื้อ” พี่กุ้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จ.อำนาจเจริญพูดพร้อมหยิบมือถือถ่ายรูปเพื่อบันทึกข้อมูลเด็กบริเวณรอบ ๆ บ้าน
“น้องน้ำ” เป็นเด็กดีและไม่เคยยอมแพ้โชคชะตา พี่กุ้ง เจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. เล่าให้ฟังต่อว่า “จำได้ครั้งหนึ่งที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ในพื้นที่ดำเนินงาน จ.อำนาจเจริญได้จัดกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านกุงชัย หลังกิจกรรมเด็กและผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน รถของเจ้าหน้าที่ที่ท้ายรถเต็มไปด้วยอุปกรณ์จัดนิทรรศการกำลังขับวนไปยังบริเวณหน้าโรงเรียน แต่เมื่อเห็นเด็ก ซี.ซี.เอฟ. คนหนึ่งยืนอยู่กับพ่อจึงหยุดรถทักทาย “น้องน้ำ” ที่กำลังช่วยกันคัดเลือกขวดน้ำพลาสติก แก้วน้ำ ออกจากถังขยะบริเวณหน้าโรงเรียน คนอื่นกลับแล้วแต่น้องน้ำยังไม่เดินกลับบ้านเหมือนเช่นเด็กอื่น ๆ แต่กลับยืนช่วยพ่อที่พิการอย่างขยันขันแข็ง ในชุดเสื้อยืดเก่ากับกระโปรงนักเรียน ที่เอามาเปลี่ยนพร้อมที่จะทำงานเสมอหลังเลิกเรียน
“สวยไหมคะ?” น้องน้ำยื่นสร้อยข้อมือที่หยิบจากกระเป๋ากระโปรงโชว์ให้ดู “พี่จิ๋ว” หัวหน้าโครงการฯ จึงถามว่า “ซื้อมาเท่าไหร่คะ?” น้องน้ำยิ้มแล้วตอบว่า “หนูทำเองค่ะ มันทำมาจากลูกปัดที่ติดมากับเสื้อกับรองเท้าของเก่าที่เขาทิ้งแล้ว หนูแยกมาแล้วทำความสะอาดและก็เอามาร้อยเป็นสร้อย กำไล กิ๊บติดผม ไว้ขายไม่แพงให้เพื่อน ๆ ได้เอาไปใช้ประโยชน์ค่ะ แต่อันนี้หนูไม่ขาย หนูให้พี่นะคะ ขอบคุณที่พี่ ๆ เคยจัดกิจกรรมที่โรงเรียนให้หนูและเพื่อน ๆ ได้ร่วมสนุกกันค่ะ” น้องน้ำยื่นสร้อยข้อมือให้พร้อมยกมือไหว้
ในฐานะคนทำงานคนหนึ่งในมูลนิธิฯ ที่ต้องดูแลเด็ก ๆ ด้อยโอกาสจำนวนหลายร้อยชีวิต พวกเราก็พยายามช่วยเหลือให้เด็กได้มีชีวิตที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้มากที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความช่วยเหลือจะมาได้เร็วเท่ากับความต้องการ เพราะเด็กในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในแต่ละพื้นที่มีจำนวนมาก บางครั้งการช่วยเหลืออาจอยู่ในระหว่างการดำเนินการขอความช่วยเหลืออยู่ “น้องน้ำทำให้เห็นว่า แม้ในวันที่ยังเฝ้ารอผู้ใหญ่ใจดี หัวใจของน้องก็ไม่เคยยอมแพ้ หากสักวันหนึ่งน้องน้ำได้รับการอุปการะ เธอก็จะมีโอกาสที่ดีและสามารถก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปได้”
เผยแพร่เมื่อ : 21 ตุลาคม 2567