“เอ๊ะ! เอ๊ะ! เอ๊ะ! ต้นไม้อะไรน้า ออกผลมาน่าทานเชียวแหละ.. แต่ไม่รู้จะกินได้มั๊ยน้า..” น้ำเสียงอันชวนน่าฟังของครูน้ำที่กำลังเล่านิทานให้กับเด็ก ๆ ฟังอย่างน่าสนุกสนาน กับเนื้อหานิทาน เจ้าจ๋อลิงน้อยที่เห็นผลไม้บนต้นลูกใหญ่โต ผลสีแดงน่าจะอร่อยหมายจะเด็ดมากินแต่เจ้าจ๋อลิงน้อยไม่รู้เหรอว่า ผลไม้ที่เห็นอยู่นั้นมีพิษแฝงอยู่ไม่สามารถกินได้ หากกินเข้าไปก็จะเป็นอันตราย ด้วยความโชคดีที่แม่เจ้าจ๋อลิงน้อย เหลือบเห็นจึงยับยั้งไว้ได้ทัน เจ้าจ๋อลิงน้อยจึงไม่ได้รับอันตรายจากการกินผลไม้นั่น
ครูน้ำ ครู ศพด.บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนจะเล่านิทานให้เด็กได้ฟังก็เพียงแค่เปิดหนังสือนิทานแล้วอ่านให้ฟัง บางครั้งเด็กก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ พอหลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรม นักเล่านิทานที่โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. เชียงราย จัดขึ้น ก็ได้เรียนรู้เทคนิคการเล่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำเสียงหรือใช้สื่อ โดยเฉพาะมีฉากนิทานและหุ่นมือประกอบการเล่า ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกกับนิทาน บางครั้งเด็ก ๆ ก็จะมาเป็นคนเชิดหุ่นมือร่วมกับครูด้วย”
ครูน้ำ เล่าต่อว่า “ในนิทานยังสอดแทรกเนื้อหาเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อีกด้วย อย่างเช่นเรื่องเจ้าจ๋อลิงน้อยกับผลไม้อันแสนหวานเป็นนิทานที่ครูแต่งขึ้นเอง เพราะเด็กเล็กๆ ส่วนใหญ่มักจะหยิบฉวยสิ่งของเข้าปากและเป็นอันตรายสำหรับเด็ก ซึ่งในตอนสุดท้ายของนิทานจะสรุปให้เด็กฟังว่า เด็กๆ ไม่ควรที่จะหยิบจับสิ่งของอื่นๆ เข้าปาก เพราะจะเป็นอันตรายบางสิ่งบางอย่างก็ไม่สามารถกินได้ หากจะกินก็ต้องเอาไปให้ ครูหรือพ่อแม่ดูก่อน”
นอกจากครูน้ำจะเล่านิทานที่เล่าให้เด็กฟังแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เสริมให้กับเด็ก อีก เช่น ให้เด็กฝึกเขียน ฝึกวาดภาพระบายสี ส่งเสริมเด็กให้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเด็กยังสามารถมองภาพศิลปะรอบตัวให้เข้าใจง่ายตามช่วงวัยของเขาอีกด้วย
พ่อวัลลภ พ่อของเด็กหญิงแป้งอายุ 5 ขวบ ซึ่งเป็นเด็กในความดูแลของโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ.จังหวัดเชียงรายกล่าวด้วยใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมแอบมองดูเด็กๆ ที่กำลังเล่นหุ่นมือกับเพื่อนๆ อย่างมีความสุขว่า “ผมเคยแต่จับมีด จอบเสียม เข้าป่าเข้าไร่ วันนี้ได้มาร่วมกิจกรรม มาจับกระดาษ ดินสอ สี เย็บผ้าทำหุ่นมือ และเห็นเด็กๆ มีความสุขกับสื่อนิทานที่กลุ่มผู้ปกครองช่วยกันผลิต ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขมากครับและไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ด้วยครับ”
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการอ่านของเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 0-6 ปี และช่วงรอยต่อปฐมวัย ช่วงอายุ 7-9 ปี ให้ได้รับการพัฒนาส่งเสริมทักษะการอ่าน โดยใช้นิทานเป็นสื่อหลักในการพัฒนาเด็ก จึงได้จัดให้มีกิจกรรม “นักเล่านิทานสัญจร” โดยเสริมพลังชุมชนในการร่วมพัฒนาทักษะการอ่านของเด็ก ผ่านเครือข่ายการทำงานจิตอาสา อาทิเช่น ครูอาสา เกษียณอาสา ผู้ปกครองอาสา เยาวชนอาสา ซึ่งการเล่านิทานให้เด็กฟัง ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กเกิดความสนุกสนานเท่านั้น แต่ความเป็นจริง ประโยชน์จากการได้ฟังนิทาน ก่อให้เกิดจินตนาการ ความคิด และการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งตัวละครแต่ละตัวในนิทานจะสร้างจินตนาการในสมองเด็ก ดังนั้นการเล่านิทานจึงเป็นกิจกรรมในการส่งเสริมเด็กได้ทุกเรื่องรวมถึงการสร้างนิสัยรักการอ่านอีกด้วย