ข่าวประชาสัมพันธ์

ข้าวจ้ำเล่าขานตำนาน "ประเพณีตีพิ" ต.สกาด อ.ปัว จ.น่าน

ข้าวจ้ำเล่าขานตำนาน "ประเพณีตีพิ" ต.สกาด อ.ปัว จ.น่าน

ข้าวจ้ำเล่าขานตำนานประเพณี “ตีพิ” หรือ “กินสโลด” เล่าขานรุ่นต่อรุ่น (ข้าวจ้ำ คือ ผู้แทนสืบทอดการทำพิธีจากรุ่นสู่รุ่น) เล่าว่าในอดีตกาลชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ข้าว ปลูกข้าวในพื้นที่ป่า อยู่มาวันหนึ่งมีชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก ณ เวลานั้นก็เกิดมี “พิ” ตกลงมาจากฟ้าลงมาที่บ้านของชาวบ้านหลังหนึ่ง ข้าวจ้ำจึงได้ถามพิว่า ทำไมมีชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก? จึงได้คำตอบว่า ชาวบ้านที่เข้าไปทำไร่ในป่า ไม่เคยมีการกราบไหว้หรือขอขมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเริ่มประเพณีตีพิหรือกินสโลด เลี้ยงขวัญข้าวเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน หลังฤดูการเพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุก ๆ ปี

มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ

ประเพณี “ตีพิ” หรือ “กินสโลด” เป็นพิธีขอฟ้าขอฝนเลี้ยงขวัญข้าวและเป็นพิธีเลี้ยงผีประจำพระขุน (ตระกูล) ซึ่งการเลี้ยงผีประจำตระกูลจะมีข้าวจ้ำ (ผู้แทนสืบทอดของตระกูล) เป็นผู้ทำพิธี มีเครื่องดนตรีประจำเผ่าเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งในกลุ่มปรัยจะเรียกเครื่องดนตรีของเขาว่า “เประห์” และกลุ่มมัล เรียกว่า “ปิอ์” หรือที่คนเมืองเรียกว่า “พิ” บ้านสกาดจะเรียกไม้ไผ่ชนิดนี้ว่า “ไม้เฮียะ”

วันแรกของประเพณี “ตีพิ” ชาวบ้านจะต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อเข้าป่าลึกหาไม้ไผ่ (ไม้เฮียะ) ที่จะมาทำเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “พิ” โดยจะเลือกไม้ไผ่ที่มีลำต้นตรงได้ที่ขนาดพอเหมาะ ตัดเป็นปล้อง ๆ ส่วนใต้ข้อลงไปและเหนือข้อขึ้นไป ขนาดเกือบ 1 ฟุต นำไปเจาะรูทั้งสองด้าน แล้วเหลาไม้ยาวเท่า ๆ ขนาดของปล้องไม้ไผ่ เสียบทะลุตรงรูที่เจาะเหนือข้อปล้อง โดยทิ้งปลายไม้ทั้งสองด้าน ปลายส่วนหนึ่งสั้นทำไว้จับ อีกปลายส่วนหนึ่งยาวกว่าไว้ใช้ตี เพื่อทำให้เกิดเสียงเคาะ จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งก็จะส่งเสียงพร้อม ๆ กันจนเสียงเประห์ดังก้องกังวานไปทั้งหุบเขาในระหว่างแห่ชวนหญิงและชายในหมู่บ้านมาร่วมร่ายรำผ่านเส้นทางในหมู่บ้านโดยมีผู้นำขบวนพาเคลื่อนไปประกอบพิธีกินโสลด จากนั้นจะนำพิทั้งหมดมากองรวมกันและขอข้าวป๋วง ซึ่งชาวบ้าน ถือว่าเป็นสิ่งมงคลถ้าได้กินแล้วจะเป็นสิริมงคลต่อตนเองและคนในครอบครัว บ้างก็จะนำไว้ในยุ้งฉาง (ลูนข้าว) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ครอบครัวมีข้าวปลาอาหารกินตลอดทั้งปี

มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ

หากเรามองด้วยตารูปลักษณ์ราคาไม่อาจวัดคุณค่าของเครื่องดนตรี แม้ว่า “พิ” จะเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ธรรมดา ๆ แต่หากมีเสียงที่ดังไพเราะ สะท้อนวิถีบอกเล่าวัฒนธรรม รักษาท่วงทำนองธรรมชาติแห่งความอุดมสมบูรณ์ของคนบนดอยได้เป็นอย่างดี

ร่วมสนับสนุนเงินบริจาค คลิก !
#มูลนิธิซีซีเอฟ #CCF

เผยแพร่เมื่อ : 20 มิถุนายน 2567

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก