“ผมจะทำยังไงปลาดุกของผมถึงจะไม่หมดบ่อครับ ผมอยากขยายพันธุ์ปลาดุกเอง ปลาดุกที่นี่ใหญ่กว่าที่บ้านเราด้วย ผมอยากเลี้ยงปลาดุกให้ตัวใหญ่แบบนี้บ้าง ต้องทำยังไงครับ”
คำถามจากปากเยาวชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง นายกันตินันท์ มาพงษ์ หรือแซม อายุ 15 ปี ดังขึ้นระหว่างการอบรม เยาวชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ แสดงถึงความจริงจังของเยาวชนคนนี้ และแซมนำมาปฎิบัติได้อย่างประสบความสำเร็จ
เมื่อได้รับการสนับสนุนปลาดุกจาก ซี.ซี.เอฟ แซมกับพ่อสองคน ใช้เวลาเพียงวันเดียวช่วยกันขุดบ่อปลาดุกหลังบ้านได้สำเร็จ ช่วงที่แซมไปโรงเรียนก็จะมีพ่อกับแม่คอยดูบ่อปลาให้ พอเลิกเรียนมาแซมก็จะมาให้อาหารปลาทุกเย็น แซมใช้เวลาเลี้ยงเพียงสามเดือน ก็สามารถนำมาเป็นอาหารในครอบครัวและได้แบ่งขายในหมู่บ้านมาเป็นรายได้ให้กับครอบครัว เมื่อปลาดุก เริ่มหมดบ่อ แซมก็ไปซื้อลูกปลาชุดใหม่เพื่อเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารและรายได้ เงินที่นำไปซื้อลูกปลาก็เป็นเงินจากการขายปลาดุกและเงินของพ่อแม่ช่วยสมทบ
“ผมเลี้ยงปลา ให้อาหารผสมรำ หาปลวก และผักให้ปลากิน ช่วยลดต้นทุนค่าหัวอาหารได้ แล้วก็เอาอีเอ็มมาใช้ลดกลิ่นเหม็นในบ่อปลาทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำปลาบ่อยๆ ปลาโตเร็วด้วย พอจับปลาขายก็เอาเงินส่วนหนึ่งไปซื้อลูกปลาใหม่มาเลี้ยงหมุนเวียน ผมเลยมีลูกปลาเลี้ยงเองโดยไม่ต้องซื้อ และอยากขายลูกปลาได้ด้วย ต้องขอบคุณโครงการที่ได้ช่วยเหลือให้เป็นเยาวชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง”
ตามรั้วบ้านแซมก็จะมีพืชผักสวนครัวไว้คอยเป็นแหล่งอาหารในครอบครัว แซมกับพ่อจะเป็นคนปลูกและดูแลเองกับมือ ครอบครัวนี้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ นอกจากเลี้ยงปลาดุกแล้ว แซมก็ไม่ลืมที่จะทำบัญชีรับ-จ่ายประจำวัน เพื่อวางแผนทางการเงิน นำความรู้เรื่องการทำ EM มาทำใช้กับบ่อปลาที่บ้านเพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสีย
ปัจจุบันน้องแซมได้เข้าร่วมเป็น “นักธุรกิจพอเพียง” เขียนโครงการเลี้ยงปลาดุกและขยายพันธุ์ปลาดุก โดยยึดหลัก “จะเดินตามรอยพ่อ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง”
อ่อนอนงค์ คำเลิศ
โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดศรีสะเกษ
4 ตุลาคม 2559