ค่ารถจำนวน 140 บาท ที่ นัย เด็ก ป.2 บนดอยได้จากผู้อุปการะ ส่งให้เขาไปไกลได้ถึงประเทศออสเตรเลีย ถ้าไม่มีค่ารถนี้แล้ว นัย บอกว่า เขาคงทนเดินไปโรงเรียนวันละกว่า 20 กิโลเมตรไม่ไหว และเลือกที่จะออกจากการเรียน นั่นยืนยันว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งมาถึงทางเลือกของชีวิต ทุกๆ บาทที่ท่านได้ช่วยเหลือเด็กๆ อาจแค่หลักร้อยบาท ที่อาจจะเล็กน้อยในความรู้สึกของท่าน แต่สามารถช่วยให้เด็กๆ ผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อนาคตคู่ขนานรอเด็กอยู่ เด็กจะมีชีวิตแบบไหน การสนับสนุนจากท่านมีส่วนกำหนดอนาคตที่ดีให้พวกเขาได้
“ตอนนั้นผมดีใจมากเลยครับที่ได้ค่ารถ ลองคิดภาพดูครับ เด็ก ป.2 เดินไปโรงเรียนบนดอยระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ไปกลับกว่า 3 ชั่วโมง ลำบากมากครับ และเงินจำนวน 140 บาท ทำให้ผมก็ได้ขึ้นรถไปโรงเรียน ในขณะที่เพื่อนผมหลายคนต้องออกจากการเรียนกลางคัน เพราะทนความลำบากไม่ไหว พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกไปเรียนเพราะเป็นห่วง” วินัย เชอมือ หนุ่มวัย 30 จากอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ย้อนอดีตให้ฟัง
นัย บอกว่า ตั้งแต่เริ่มจำความได้ เขาได้รับการอุปการะจากชาวต่างชาติ ได้รับความช่วยเหลือต่างๆ ได้ชุดนักเรียนใหม่ทุกปี เขาดีใจมาก เพราะเป็นเสื้อผ้าใหม่ชุดเดียวที่เขาได้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฝังใจที่สุด คือ ค่ารถไปโรงเรียน ซึ่งทำให้เขาพ้นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตมาได้ และไปได้ไกลถึงออสเตรเลีย
หลังจากจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนบนดอย นัย เข้ามาเรียนต่อระดับปวช. ที่วิทยาอาชีวศึกษา ในตัวเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นของรัฐ ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม มีหอพักให้อยู่ฟรีกินฟรี จากนั้นได้กู้เงิน กยศ. เรียนต่อระดับ ปวส. และทำงานพิเศษไปด้วย นัย ได้รู้จักเพื่อนที่ไปทำงานที่ออสเตรเลีย และตัดสินใจตามรอยเพื่อน หลังเรียนจบ นัย ทำงานเก็บเงิน 1 ปี แล้วบินไปออสเตรเลียเพื่อเรียนภาษาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์
นัย สู้ชีวิตจนได้เรียนภาษาและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 5 ปี “ก่อนไป ผมลงเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชไว้ด้วย บินกลับมาสอบทุกปี จนเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ แล้วพอผมเริ่มอิ่มตัว จึงตัดสินใจกลับเมืองไทย ต้องพูดเลยว่า ความช่วยเหลือจากผู้อุปการะ มีส่วนทำให้ผมมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ถ้าวันนั้น ผมไม่ได้ค่ารถ ไม่ได้ชุดนักเรียน ไม่ได้อุปกรณ์การเรียนและความช่วยเหลืออื่นๆ เด็กน้อยคนนั้นคงทนลำบากไม่ไหว จนออกจากโรงเรียนไปแล้ว"
กลับมาเมืองไทย นัย สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. ที่จังหวัดเชียงราย เพราะฝังใจตั้งแต่วัยเด็กว่า โตขึ้นมาอยากเป็นเจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. "เห็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรา โตมาอยากเป็นแบบนั้นบ้าง อยากออกไปยืนข้างหน้าเพื่อช่วยเหลือน้องๆ คนอื่นๆ บ้าง เหมือนที่เราเคยได้รับโอกาส ยิ่งเราเป็นคนในพื้นที่ เราจะรู้ปัญหาที่แท้จริง เพราะเราเคยขาดแคลนมาก่อน เวลาลงพื้นที่ ผมก็จะใช้ความรู้เกษตรที่เรียนมาคอยให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน ทั้งหมดนี้ ผมอยากตอบแทน อยากขอบคุณผู้อุปการะ เพราะถ้าตอนเด็กผมไม่ได้รับความช่วยเหลือจากท่านแล้ว ผมคงไม่ได้มีอนาคตแบบในวันนี้"