ยิ้มสู้ฝุ่น สู้ภัย PM 2.5 จ.พะเยา
สถานการณ์ปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ โดยสาเหตุหลักของปัญหานี้เกิดจากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไร่ข้าวโพด นาข้าว และพื้นที่ป่าไม้ ทำให้มี Hotspot หรือ จุดความร้อนสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจังหวัดพะเยา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในภาคเหนือที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสูงถึง 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในช่วงเดือน กุมภาพันธ์- เมษายน ของทุกๆปี
โครงการยิ้มสู้ฝุ่นโดย มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดพะเยา ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลดสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในระดับชุมชน จัดกิจกรรม “ยิ้มสู้ฝุ่น” ให้ผู้เข้าร่วมอบรมตระหนักและเข้าใจรู้ทันฝุ่นควัน ผ่าน 5 ปฏิบัติการ
- รู้ทันฝุ่น PM2.5 สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน
ในพื้นที่
- การใช้ประโยชน์ลดเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ได้แก่ หญ้า ใบไม้ ฯ โดยชุมชนมีส่วนร่วม ในการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าและอาชีพ ทำปุ๋ยหมัก เพาะเห็ดสร้างอาหารและอาชีพ
- เขียวสู้ฝุ่น ในรูปแบบ Smart farm การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนด้วยรูปแบบ ปลูกป่า(ใม้) สร้างรายได้โดยการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่า ไม้ผล ไม้ประดับ และพืชผัก
- ปฏิบัติการสู้ฝุ่น เป็นกิจกรรม ที่มีการติดตั้ง เครื่องตรวจวัดฝุ่นในอากาศ PM2.5
- รณรงค์สร้างการรับรู้และตระหนักในชุมชนและสาธารณะ โดยการนำเสนอบทเรียนต้นแบบการปรับตัวของชุมชน "คนสู้ฝุ่น"
นายณัฐกฤช ชัยชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเลี้ยว กล่าวว่า “การจัดอบรมโครงการยิ้มสู้ฝุ่น PM 2.5 โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้เด็กและก็ชุมชนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยฝุ่นละออง PM 2.5 ทั้งการป้องกัน การจัดการเกี่ยววัสดุที่เหลือกจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำมาสร้างอาชีพให้กับชุมชน และการสอนให้นักเรียนได้รับรู้ถึงการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ได้เข้ามามอบองค์ความรู้ใหักับทางโรงเรียนและชุมชนบ้านเลี้ยวแห่งนี้”
“โครงการ ยิ้มสู้ฝุ่น PM2.5 โดยชุมชนร่วมมือ โรงเรียนบ้านเลี้ยว จังหวัดพะเยา จะเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้และเข้าใจปัญหาฝุ่น PM 2.5 และพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นางสาวศุภาพิชญ์ สงคำ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ฯ กล่าวปิดท้าย