แม้ว่าสังคมไทยจะเต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี แต่ในทางกลับกันความเจริญทางด้านจิตใจของคนไทยกับเสื่อมลงทุกวัน ดังจะเห็นได้จากปัญหามากมายที่เด็กต้องเผชิญ โดยเฉพาะเด็กยากไร้ เด็กด้อยโอกาส สังคมเต็มไปด้วยสิ่งที่ล่อลวงให้หลงใหล ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟื่อยเพื่อซื้อหาสิ่งของที่ทำให้ตนดูเหมือนว่าทันสมัย ไปจนถึงการหมกหมุ่นกับเพศสัมพันธ์และการรื่นเริงบันเทิงใจในรูปแบบต่างๆ นานา ล่อตาล่อใจเด็กและเยาวชนให้เข้าหา
เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นวัยที่ต้องการแสดงออก เป็นวัยที่มีพลัง มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ที่สามารถใช้ในการสรรค์สร้างงานต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันด้วยวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่ยังน้อย บ่อยครั้งที่พวกเขา "หลงทางชีวิต"เพราะขาดข้อมูลและความสามารถในการวิเคราะห์ การกำหนดทางเลือกกับวิธีการ และการสรุปบทเรียนชีวิตเพื่อยกระดับตัวองให้ดีขึ้น พวกเขาจะทำได้ดีขึ้น หากมีผู้ช่วยพัฒนาศักยภาพของพวกเขา ให้ข้อมูลพวกเขา ชี้แนะ ช่วยเสริมศักยภาพ และถ้านำพาพวกเขาไปยังส่วนของสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือ เยาวชนเหล่านี้จะสามารถเป็น "ผู้ให้" ซึ่งนั่นคือ "คุณค่า" ที่หลายๆ ครั้งคนรอบข้าง หรือแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยรับรู้
สิ่งหนึ่งที่เยาวชนในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการศึกษาสูง และกำลังจะออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ก็คือแรงกายและสติปัญญาของพวกเขานั่นเอง เยาวชนกลุ่มนี้สามารถเป็น "อาสาสมัคร" ที่ทรงพลังมากที่สุด เพราะสังคมและชุมชนมากมายยังต้องการการสนับสนุนจากอาสาสมัครเหล่านี้
"โครงการเยาวชน ซี.ซี.เอฟ. สืบสานการให้" จึงเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังจะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้าง "จิตอาสา" ให้กับเด็ก ซี.ซี.เอฟ. ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา ให้มีการรวมตัวกัน สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เพื่อชุมชนและสังคม ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายที่ออกแบบ คิดค้น และปฏิบัติโดยตัวเยาวชนเอง ด้วยการสนับสนุน ชี้แนะ ตลอดทั้งโครงการ จาก กลุ่มไม้ขีดไฟ และ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.
"จุดเริ่มมันมาจากความคิดที่จะเปลี่ยนบทบาทเด็กมหา’ลัย ซึ่งมีศักยภาพ มีวุฒิภาวะมากขึ้นเหล่านี้ จาก ‘ผู้รับ’ เป็น ‘ผู้ให้’ เกิดการรับรู้คุณค่าในตัวเองจากการให้ การเป็นอาสาสมัคร มีจิตอาสา ได้พัฒนาศักยภาพในการคิดและทำกิจกรรมเพื่อคนอื่น ต่อไปก็สามารถเป็นอาสาสมัครให้องค์กรต่างๆ รวมทั้งช่วยงานมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ด้วย" ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน หรือ พี่กุ๋ย แกนนำกลุ่มไม้ขีดไฟ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป
กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ คือ เยาวชน ซี.ซี.เอฟ. ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นด้วยการจัด"ค่ายเยาวชน ซี.ซี.เอฟ. สืบสานการให้" มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม สร้างภาวะผู้นำ เรียนรู้การแบ่งปัน สร้างสำนึกจิตอาสา ให้เกิดความสัมพันธ์ รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ บ้านพักทัศนาจร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 22 คน จาก 9 สถาบัน
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพมหานคร มีเยาวชนเข้าร่วม 14 คน จาก 12 สถาบัน
เด็กเยาวชนได้ช่วยกันระดมความคิดเห็น ออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในนามเครือข่ายที่พวกเขาช่วยกันตั้งชื่อ "CCF 5ให้" ซึ่งมีที่มาจากการให้ 5 รูปแบบ ได้แก่ "ให้ใจ ให้แรง ให้ความรู้ ให้สิ่งของ ให้ความสุข"
"รู้สึกดีครับ ได้ประสบการณ์ใหม่ ทัศนคติใหม่ ถ้าพูดถึงการให้เราก็คือทราบถึงทัศนคติ ความต้องการของผู้รับด้วย มิฉะนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ และตัวเองก็ได้รับแรงบันดาลใจ ในการมีจุดมุ่งหมายในการทำอะไรสักอย่าง เมื่อมีเป้าหมายสิ่งนั้นมันก็เกิดคุณค่าขึ้นมา" สราวุฒิ บุตรสูงเนิน หรือ น้องเสก เด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว