เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ สำนักงานโครงการ จ. อุตรดิตถ์ โดยเจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. ได้ชักชวนเด็กๆ และกลุ่มผู้ปกครอง จัดกิจกรรมเด็กและเยาวชน ซี.ซี.เอฟ. อาสาทำความดีเพื่อสังคม ด้วยการใช้ข้าวปุ้น (ขนมจีน) มาเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญข้าวจี่ บ้านนากวาง อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ตามสโลแกนของงานบุญข้าวจี่ ทุกหมู่บ้านต้องจัดทำขบวนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ข้าว” เท่านั้น
ในกิจกรรมนี้ เด็กและผู้ปกครอง ซี.ซี.เอฟ. ได้ร่วมกันทำกิจกรรมตามสโลแกนของงานบุญข้าวจี่ โดยมีหมู่บ้านรวมทั้งหมด ๙ หมู่บ้านร่วมกัน จัดทำเป็นขบวนแห่ข้าวต่างๆ โดยผู้ปกครองและเด็กๆ จัดทำชุดน้ำยาข้าวปุ้น (ขนมจีน) นำมาบรรจุใส่ถุงหรือภาชนะให้กับกลุ่มลูกค้าที่มาเที่ยวชมงานบุญข้าวจี่ ได้ชื้อไปรับประทานหรือนำกลับบ้าน ทำให้เกิดความสนุกสนาน อิ่มท้อง ได้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านในชุมชนนั้น โดยในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำบุญใส่บาตรข้าวจี่ ปิดทองพระประจำวัน การประกวดร้องเพลง การแข่งกินข้าวจี่ มัจฉาข้าวจี่ และกิจกรรม ชม ชิม ช๊อป ชมการปิ้งข้าวจี่ ข้าวหลามจากชาวบ้านอิ่มอร่อยกับเมนูพื้นบ้าน การจำหน่ายของกินให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่มาเที่ยวชมงาน
ข้าวจี่ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของคนอีสานหรือคนลาว สัณนิษฐานว่าถือกำเนิดขึ้นขณะนั่งผิงไฟในหน้าหนาวและเป็นช่วงที่เกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ๆ โดยธรรมซาติของข้าวใหม่จะมีกลิ่นหอมอยู่แล้ว ในขณะนั้นก็เอาข้าวเหนียวที่นี่งแล้วมาปั่นโรยเกลือทาไข่ไก่ นำมาอังไฟหรือย่างไฟให้เกรียม สุกแล้วรับประทานได้เลย อุปนิสัยเนื้อแท้ของชาวอีสานแล้ว เป็นคนขยันและช่างคิด ช่างประดิษฐ์ ต่อมาได้นำข้าวจี่ไปถวายพระจนกระทั่งได้กลายมาเป็นประเพณีงานบุญข้าวจี่จนถึงทุกวันนี้
ข้าวจี่ที่บ้านนากวาง อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ชาวบ้านจะเคยรู้จักและทำข้าวจี่กินกันเป็นตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยไม่คิดว่าจะทำเป็นฤดู อยากจะกินก็ทำกินเลย แต่ว่าไม่เคยนำไปถวายพระ หรือทำบุญข้าวจี่ให้เป็นกิจจะลักษณะ จนประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พ่อผู้ใหญ่ดำ แพงสาย ท่านมีเชื้อสายทางประเทศลาว ท่านได้เดินทางไปมาหาสู่ญาติพี่น้องทางประเทศลาวและทางภาคอีสาน ได้พบเห็นมีประสบการณ์และเคยทำบุญข้าวจี่ จึงได้เล่าเรื่องราวการทำบุญปรึกษาหารือชักชวนคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านในสมัยนั้นจัดงานบุญข้าวจี่ที่บ้านนากวางเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้มีการรื้อฟื้นสืบสานงานประเพณีบุญข้าวจี่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านฝ่ายเป็นปีแรกจนถึงปัจจุบันนี้ (ที่มา : บันทึกประเพณีบุญข้าวจี่ บ้านนากวาง ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์)
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ที่ จ.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ปัจจุบันมีพื้นที่การดำเนินงาน ใน ๓ อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำปาด อ.ท่าปลา และ อ.ฟากท่า ดูแลและช่วยเหลือเด็กๆ กว่า ๑,๗๕๒ คน ผ่านโครงการมอบทุนการศึกษา โครงการเยาวชนจิตอาสาพาน้องทำดี โครงการคลังอาหารในครัวเรือน โครงการเสริมภูมิรู้วิถีชีวิติแนวใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก