ในทุก ๆ สถานการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ ภัยแล้ง ราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีอย่างที่คิด จนถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด 19 บางคนถูกเลิกจ้าง ไม่มีอาชีพ และรายได้ที่แน่นอน ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาในการจัดหาอาหารสำหรับตัวเองและคนที่รัก
ความเสี่ยงด้านอาหารที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นให้ มูลนิธิ ซี.ซี.เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ทำโครงการ “เกษตรมื้อนี้เพื่อน้อง” โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ในการคัดเลือกพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่ส่วนบุคคล ที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ มาสร้างให้เป็น “แหล่งอาหารของชุมชน” สำหรับ “ไว้กิน ไว้ใช้” ในช่วงเวลาวิกฤติ
แหล่งอาหารชุมชน ใครได้ประโยชน์?
การทำงานในโครงการ “เกษตรมื้อนี้เพื่อน้อง” ดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ รวม 262 ครอบครัว ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ดำเนินงาน 8 ไร่ ผู้รับผลประโยชน์ 70 ครอบครัว , จังหวัดตาก พื้นที่ดำเนินงาน 10 ไร่ ผู้รับผลประโยชน์ 50 ครอบครัว, จังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ดำเนินงาน 3 ไร่ ผู้รับผลประโยชน์ 65 ครอบครัว, จังหวัดเลย พื้นที่ดำเนินงาน 3 ไร่ ผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 47 ครอบครัว และ จังหวัดแพร่ พื้นที่ดำเนินงาน 3 งาน ผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 30 ครอบครัว
กิจกรรมสร้างความมีส่วนร่วม
กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อความมีส่วนร่วมจะนำไปสู่การแก้ปัญหา และ ลดความเสี่ยงจากวิกฤติขาดแคลนอาหาร จะดำเนินการด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้
ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มชาวบ้าน โดยแบ่งกลุ่มตามความสนใจ ได้แก่ กลุ่มปลา กลุ่มเห็ด ผัก ไก่ ได้รับพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ แต่ละกลุ่มเข้าใจวิธีการดูแลพืชและสัตว์จากการอบรม และจากประสบการณ์ของตนเอง ชาวบ้านแต่ละกลุ่มมีการหารือร่วมกันในกลุ่มเพื่อปรึกษาและวางแผนร่วมกัน
นอกจากนี้ มีโครงสร้างการทำงานของกลุ่ม ที่มีทั้งประธานกลุ่ม รองประธานกลุ่ม เหรัญญิก ประธานกลุ่มผัก กลุ่มปลา กลุ่มไก่ กลุ่มเห็ดมีระเบียบของกลุ่มในการแบ่งหน้าที่ การจัดสรรผลประโยชน์ให้กับสมาชิก
กำหนดให้เด็ก ๆ ทุกคนมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยมอบภารกิจให้เด็กต้องดูแลพืชผักของตนเอง คนในชุมชนเรียนรู้การปลูกผักและสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทานเอง
ทั้งนี้ ในหลาย ๆ กิจกรรมที่ทำขึ้นมีส่วนสนับสนุนให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จากการได้ร่วมกันปรึกษาหารือและแก้ไขเรื่องปัญหาปากท้อง การถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกัน ซึ่งช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) การเล่าเรื่องราวความหลังของชุมชน การได้เห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่พูดคุยทักทายกันในตอนเย็นเมื่อต้องแวะเวียนมาเจอกันเพื่อรดน้ำผัก ให้อาหารปลาและไก่ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และทักษะเรื่องการดูแลพืชผักอย่างไรให้เติบโตสวยงาม
สร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน
จากการทำงานร่วมกันของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ โรงเรียนและชุมชน ในโครงการ “เกษตรมื้อนี้เพื่อน้อง” ทำขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงด้านอาหารที่เกิดขึ้นแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อที่สุดแล้ว ทุกคนในชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ลดรายจ่ายด้านอาหาร และสร้างภูมิคุ้มกันด้านการขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤติ