ข่าวประชาสัมพันธ์

ลำขนาด! “พิซซ่าม้ง” บนดอย จ.น่าน

ลำขนาด! “พิซซ่าม้ง” บนดอย จ.น่าน

ห่มหมอกกอดหนาว “ที่น่าน” สัมผัสธรรมชาติชาวม้ง “บ้านน้ำสอด” ชวนชิม “จั๋ว” หรือ “พิซซ่าม้ง” ขนมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวไทยกลุ่มชาติพันธ์ุม้ง ที่นิยมกินกันในช่วงฤดูหนาวและในช่วงเทศกาลปีใหม่แสนอร่อย

“พิซซ่าม้ง” ที่เด็ก ๆ มักเรียกขาน เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวที่หุงสุกใหม่ ๆ แล้วนำไปตำด้วย "ร้างจั๋ว" หรือ “ครกตำข้าว” ให้ละเอียด จากนั้นปั้นข้าวโดยนำไข่แดงที่ต้มสุกแล้วมาทาที่มือก่อนเพื่อให้ข้าวเหนียวไม่ติดมือ ปั้นเป็นแผ่นแบน ๆ ขนาดใหญ่ หรือ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วมาใบตองมาห่อเพื่อให้ได้ความหอมของใบตอง ก่อนจะรับประทานต้องนำไปย่างบนเตาถ่านจนหอมกรอบ แล้วตัดเป็นชิ้นพอคำกินคู่กับน้ำจิ้มที่ทำมาจากอ้อย น้ำตาลหรือนมข้น โรยเพื่อเพิ่มรสชาติตามแต่ใจชอบ

“น้องวาสนา” เด็ก ซี.ซี.เอฟ. ในพื้นที่ดำเนินงานจังหวัดน่าน เล่าให้ฟังว่า “ทุก ๆ ปีเทศกาลปีใหม่ หนูจะช่วยแม่ทำจั๋วในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง พอทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำไปแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและคุณครู เวลากินจั๋วบรรยากาศจะสนุกสนานมาก เราจะล้อมวงนั่งกินกันไปคุยกันมีความสุขมาก ๆ เลยค่ะ”

การทำ "จั๋ว" หรือ “พิซซ่าม้ง” เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเนิ่นนานจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน ความผูกพันกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวม้งมาตั้งแต่โบราณ แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวชาวม้งรุ่นใหม่มักไม่ค่อยนิยมทำขนมชนิดนี้แล้ว ประกอบกับปัจจุบันมีขนมและอาหารตามสมัยนิยมที่หาซื้อได้ง่าย ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ คงเหลือให้เห็นในพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

“ครูสิริวิมล” โรงเรียนบ้านน้ำสอด สอนเด็กในระดับชั้นอนุบาล เล่าให้ฟังว่า “ในช่วงเทศกาลปีใหม่เด็กและผู้ปกครองจะพากันนำจั๋วมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคุณครู เป็นจั๋วที่มีลักษณะเป็นสีขาวและมีขนาดใหญ่ วันนี้ครูจึงชวนเด็ก ๆ มาทำจั๋วด้วยกันโดยการสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องสีจากธรรมชาติในวิธีการทำขนมเข้าไปด้วย เช่น สีเหลืองที่ได้จากน้ำขมิ้น สีม่วงจากน้ำอัญชัญและสีเขียวจากน้ำใบเตย เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมนี้นอกจากเด็กจะสนุกสนานแล้ว เด็ก ๆ ยังตื่นเต้นกับสีสันแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในขนมด้วยค่ะ”

“ครูมาลี” ครูพี่เลี้ยงเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำสอดและเป็นปราชญ์ในชุมชน เล่าเสริมให้ฟังต่อไปว่า “การทำจั๋วเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความผูกพันของคนม้ง การทำขนมที่มีกระบวนการทำค่อนข้างนาน ทำให้ครอบครัวมีเวลาได้คุยกัน พอทำเสร็จแล้วนอกจากได้จะกินจั๋วกันในครอบครัว ส่วนหนึ่งก็จะนำไปแบ่งปันจั๋วให้กับคนอื่นเป็นการแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นด้วย วันนี้ครูเองก็รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำจั๋วให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กันในวันนี้ค่ะ” ครูมาลีพูดพลางยื่นขนมแจกเด็ก ๆ ให้ได้ชิมอย่างทั่วถึง

เผยแพร่เมื่อ : 24 กุมภาพันธ์ 2568


ร่วมสนับสนุนเงินบริจาค

บริจาคออนไลน์
#มูลนิธิซีซีเอฟ #CCF


ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก