ข่าวประชาสัมพันธ์

แม้รอดตายอย่างหวุดหวิด แต่ชีวิตแม่ลูกก็แทบแหลกสลาย

แม้ผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว ปักษ์ใต้ยังคงร้อนระอุด้วยการประหัตประหาร เด็กๆ ยัง ตกอยู่ในวังวนของความรุนแรงที่ยืดเยื้อ ในวันนี้ผู้ก่อเหตุไม่เลือกเป้าแล้ว เด็กไร้เดียงสาก็โดนด้วย ยอดเจ็บ-ตายพุ่ง แม้จะมีแม่อยู่ข้างๆ แต่ก็ไม่สามารถปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยได้

สิ้นเสียง "ระเบิด" !!!
ชีวิตของสองแม่ลูกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เช้าวันนั้น ซารีฟ๊ะ ผู้เป็นแม่พา นิอาดัม ลูกชายวัย 8 ขวบ นั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์จะไปส่ง ที่โรงเรียนเหมือนทุกๆ วัน แต่เมื่อใกล้จะถึงโรงเรียนอีกเพียง 500 เมตรเท่านั้น เสียงระเบิดก็ดังขึ้น สนั่นหวั่นไหว ทั้งคู่ถูกแรงอัดของระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส "ตอนนั้นนึกถึงแต่ลูก เป็นห่วงลูกว่าจะ ปลอดภัยไหม"  เป็นสิ่งเดียวที่ ซารีฟ๊ะ คิด เธอเองข้อสะโพกหลุด ต้องรักษาตัวถึง 45 วัน ปัจจุบัน ไม่สามารถเดินเหินได้อย่างเดิม และทำงานหนักไม่ได้อีกแล้ว ส่วน น้องนิอาดัม กระดูกขาหัก ต้อง ขาดเรียนเป็นเดือนๆ ปัจจุบันต้องใส่เหล็กยาวถึง 20 ซม. ดามเหนือเข่าขวา เขารู้สึกคันและเจ็บที่แผล อยู่ตลอด เวลาจะนอนแม่ต้องเกาให้ทุกวันถึงจะหลับได้ จากเด็กร่าเริงสดใส นิอาดัม เปลี่ยนเป็นเด็ก เงียบๆ เก็บตัว ไม่ค่อยพูดจากับใคร

ระเบิดครั้งนั้นได้ทำลายชีวิตปกติสุขและความใฝ่ฝันของเขาลงสิ้น เด็กน้อยฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลเหลือเกิน ก่อนหน้านี้เขาได้เตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ทุกวันหลังเลิกเรียน จากนี้ไป นิอาดัม เล่นฟุตบอลไม่ได้อีกแล้ว แม้หมอกำลังนัดจะผ่าตัดเอาเหล็กออก แต่ขาน้อยๆ ของเขาก็ไม่สามารถจะรับแรงกระแทกหนักๆ เวลาวิ่งได้ วันนี้สิ่งเดียวที่ นิอาดัม ทำได้คือนั่งอยู่ข้างสนาม เฝ้ามองเพื่อนๆ เล่นฟุตบอลที่เขารัก

ทุกวันนี้สองแม่ลูกอยู่ด้วยความหวาดระแวง ทุกครั้งที่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียนยังต้องผ่านเส้นทางเดิม "แม่จำได้ไหม ตรงนี้ไงที่เราโดนระเบิด" คำรำพึงของเด็กน้อย สะท้อนความหวาดกลัวที่บาดลึกเกาะกินใจไม่รู้เลือน

โปรดอย่าทอดทิ้ง นิอาดัม กับเพื่อนๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กพุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต แม้พวกเขาจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา แต่ผลกระทบทางจิตใจยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร จนน่าเป็นห่วงว่าเมื่อเด็กที่คุ้นชินหรือฝังใจกับเหตุการณ์รุนแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาอาจกลายเป็นผู้ที่ลงมือใช้ความรุนแรงเสียเอง

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2547 ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลอดเวลานี้เกิดเหตุความรุนแรงมากกว่า 8,500 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,300 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 10,000 คน (ข้อมูลจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.) และมีเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตรง 62 คน บาดเจ็บ 374 คน ส่วนเด็กที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมมีนับหมื่นๆ คน (ข้อมูลจาก Deep South Watch)

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก

โครงการ คืนรอยยิ้มสู่...เด็กชายแดนใต้

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสาร

ข้อมูลของท่านจะถูกจัดเก็บรักษาความปลอดภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

English

ร่วมบริจาคช่วยเหลือเด็ก