หน้ากากหลากสีสัน “ผีตาโขน” จ.เลย
“นำความโศกเศร้าและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่ผ่านมาทิ้งลงแม่น้ำและเริ่มต้นรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต” ตามความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน
“ผีตาโขน” เพี้ยนมาจากคำว่า “ผีตามคน” หรือ“ผีตามขน” เป็นงานแห่ที่จะถูกจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีความสนุกสนานมากสำหรับผู้สวมใส่ชุดและผู้ชม ด้วยชุดและหน้ากากที่นำมาสวมใส่แต่และคนก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น กาบมะพร้าว ปลีมะพร้าวและหวดที่ใช้นึ่งข้าว นำมาประกอบเข้าด้วยกันให้มีลักษณะคล้ายหน้ากากและเพิ่มเติมสีสันด้วยการวาดลวดลายบนหน้ากากเหล่านั้นตามจินตนาการของแต่ละคน ส่วนชุดที่ใช้สวมใส่เดิมมักจะทำมาจากเศษผ้าเหลือใช้ต่าง ๆ นำมาเย็บติดกัน ปัจจุบันมีการออกแบบตัดเย็บเพื่องานแสดงอย่างสวยงาม การจัดงานจะมีการประกอบพิธีและการละเล่น 2 วัน และในวันสุดท้ายของการเล่นผีตาโขนทุกคนที่สวมใส่หน้ากากก็จะนำหน้ากากที่ตนสวมไปทิ้งลงสู่แม่น้ำ เพราะเชื่อว่าเป็นการทิ้งความโศกเศร้าและสิ่งไม่ดีออกไป แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปหลังเสร็จสิ้นงานพิธีแล้วหน้ากากก็จะถูกนำไปจัดจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
“น้องไอซ์” เด็ก ซี.ซี.เอฟ จ.เลย หนึ่งในทีม “กระจอกศิลป์” ซึ่งเป็นกลุ่มของคนในชุมชนบ้านปากหมัน ที่รวมตัวกันเล่นผีตาโขนเพื่อสืบสานวัฒนธรรมของชุมชนตนเองเล่าให้ฟังว่า “ก่อนถึงวันแห่ขบวนจะมีการวางแผนล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือน เพราะต้องหาอุปกรณ์มาประกอบหน้ากากผีตาโขนและออกแบบลวดลายบนหน้ากากของตนเอง ทุก ๆ ปีเราเห็นหน้ากากลายใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ”
“น้องนาย” เด็ก ซี.ซี.เอฟ. ที่กำลังนั่งระบายสีหน้ากากผีตาโขนอย่างขะมักเขม้น เล่าเสริมให้ฟังว่า “ชุดผีตาโขนที่แต่งนั้นหลัก ๆ จะมีด้วยกัน 3 อย่าง คือ หน้ากากผีตาโขน ชุดผีตาโขนและกระดิ่งที่ผูกไว้ด้านหลัง เพื่อส่งเสียงเพิ่มความสนุกสนานและเป็นสัญลักษณ์ของผีตาโขน เพราะถ้าเมื่อไหร่ได้ยินเสียงกระดิ่งนั่นก็หมายความว่า ผีตาโขนกำลังมา
การได้เป็นส่วนหนึ่งในประเพณีของชุมชน นอกจากการได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีผีตาโขนแล้ว เด็กและเยาวชนยังมีช่องทางสร้างรายได้เสริมจากการทำพวงกุญแจผีตาโขนในระหว่างเรียน เพื่อไว้ขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมประเพณีที่สนุกสนานและแปลกตาที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เผยแพร่เมื่อ : 18 ตุลาคม 2567