เรียนรู้วิถีคนดง "ชาวญัฮกุร" จ.ชัยภูมิ
รู้จักไหม คำว่า "ญัฮกุร" ?
"ญัฮกุร" แปลว่า "คนภูเขา" ญัฮ แปลว่า "คน" และ กุร แปลว่า "ภูเขา" คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม "คนดง" หรือ "ชาวบน" อาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาหรือเนินเตี้ย ๆ แถบที่ราบสูง จ.นครราชสีมา จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันพื้นที่ที่มีชาวญัฮกุรอาศัยอยู่หนาแน่นมากอยู่ที่บ้านน้ำลาด อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
"ชาวญัฮกุร" มีอัตลักษณ์ทางภาษา วัฒนธรรมการแต่งกายและเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันอัตลักษณ์ดังกล่าวกำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ พื้นที่ดำเนินงาน จ.ชัยภูมิ จึงจัดกิจกรรมสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญา สืบค้นเรื่องราวท้องถิ่น เสริมความรู้ให้เด็กและเยาวชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชนของตนเอง โดยเชิญคุณยายเลี่ยม หงประสิทธิ์ ชาวญัฮกุรดั้งเดิม มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและสอนภาษา เช่น คำว่า "กินข้าว" ออกเสียงว่า จ๊ะโป้ง "ไก่" ออกเสียง ซ่าง พร้อมนำเครื่องแต่งกายญัฮกุรมาให้เด็กกว่า 80 คน ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ณ วัดบ้านวังกำแพง จ.ชัยภูมิ
"ตอนเด็ก ๆ ยายเคยอาศัยอยู่บนภูเขา พ่อแม่ก็อพยพย้ายไปเรื่อย ๆ พี่น้องในครอบครัวบางคนก็แต่งงานไป ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปแต่ละหมู่บ้าน นาน ๆ ทีก็มีไปเยี่ยมกันบ้างหรือมาพบปะกันในงานประเพณีสงกรานต์ของชาวญัฮกุรหรือประเพณีกระแจ๊ะหอดอก ซึ่งคนที่มาร่วมงานจะสวมชุดของชาวญัฮกุร ผู้หญิงจะสวมเสื้อเก๊าะ สีกรมท่าหรือสีดำ นุ่งผ้า สวมสร้อยเงิน เจาะใบหูกว้างเพื่อสวมตุ้มหูใหญ่ ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุกที่จะถูกหยิบมาสวมใส่ในพิธีกรรมหรือกิจกรรมสำคัญ ๆ" ยายเลี่ยมเล่าให้เด็ก ๆ ฟังอย่างอารมณ์ดี
"รู้สึกดีใจที่มีกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ได้สืบสานภูมิปัญญาเกี่ยวกับชาวญัฮกุรที่อยู่ในชุมชนของตนเอง ถ้าไม่ได้เรียนรู้ไม่วันใด วันหนึ่งก็จะเลือนหายไป วันนี้เด็กในชุมชนได้รับความรู้ มีความเข้าใจวิถีชาวญัฮกุร เพื่อสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเองไม่ให้เลือนหายไปครับ"