"ปูหิน" ที่บ้านนาแค จ.อุดรธานี
“ผมจำได้ว่า ตอนผมเรียนประถม ผมกับเพื่อนเคยไปหาปูหินที่ลำธารใกล้บ้าน ในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์เราจะชวนเพื่อนไปหาปูกัน แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยได้ไปแล้ว นาน ๆ จะไปกันที เพราะทุกคนในชุมชนอยากให้ปูได้มีเวลาออกลูกออกหลานมากกว่านี้หน่อย” น้องภูมิ อายุ 18 ปี เด็ก ซี.ซี.เอฟ. จ.อุดรธานีเล่าให้พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. ฟังขณะพาเดินรอบหมู่บ้าน
“บ้านนาแค” เป็นหมู่บ้านหนึ่งใน จ.อุดรธานี ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่า มีน้ำตกและลำธารที่ใสสะอาดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ ปลา ปูและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ นอกจากนี้ยังมีปูน้ำจืดที่ตัวใหญ่ นั่นก็คือ “ปูหิน” ที่มีลักษณะตัวสีดำเทา ที่สามารถพบได้ในพื้นที่บริเวณ จ.อุดรธานีและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งมักอาศัยอยู่บริเวณน้ำตกหรือตามซอกหินบนภูเขาที่มีน้ำไหลผ่าน อาหารของปูหิน คือ พืช ผลไม้ป่า เห็ด และซากของสิ่งมีชีวิตที่ตกในแหล่งน้ำ ถ้าบริเวณใดมีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มาก ปูหินก็จะมีขนาดใหญ่ เนื้อปูแน่น ชาวบ้านจึงนิยมไปหาปูหินมาประกอบอาหาร
น้องภูมิ เด็ก ซี.ซี.เอฟ. เล่าให้เพื่อน ๆ ที่มาหาปูในป่าฟังว่า “ผมเคยนำปูหินจะนำมาทำหลามในกระบอกไม้ไผ่ โดยจะนำปูหินหรือปลาอื่น ๆ ที่หาได้ใสรวมกัน นำแจ่วบองและน้ำใส่ให้พอประมาณ นำไปเผาไฟ รอประมาณ 30 นาที ก็นำมากินกับข้าวเหนียว อร่อยมาก เวลาที่เราไปเก็บเห็ด ต้องไม่พลาดเมนูนี้ครับ” ซึ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวในแต่ละปี จะเป็นช่วงฤดูกาลที่ชาวบ้านออกหาปูหินเพื่อมาประกอบอาหารกันแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ก็จะไม่จับมากิน เพราะ “ปูหิน” เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นและมีเอกลักษณ์ที่กำลังจะเริ่มจะหายากมากขึ้นแล้ว
“ปูหิน” ที่บ้านนาแคในวันนี้เป็นสัตว์น้ำในท้องถิ่นที่กำลังลดน้อยลง จึงอยากให้เด็กและเยาวชน ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล ปกป้องและอนุรักษ์ ให้ปูหินให้คงอยู่ในลำธารบ้านนาแคต่อไป เพื่อที่ลูกหลานในวันหน้าจะได้รู้จักทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า เช่น ปูหิน ที่เป็นทั้งอาหาร เป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป” คุณทักษอร สิงห์ทอง เจ้าหน้าที่ต้นน้ำอุทยานแห่งชาติน้ำโสมนายูง พูดทิ้งท้าย
เผยแพร่เมื่อ : 25 กรกฎาคม 2567