เรียนรู้วิถีถิ่น “ขนมใบตองก๋ง” จ.แพร่
“ข้าวใบตองก๋ง” เป็นขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายคลึงกับข้าวต้มมัดแต่มีความแตกต่างกันที่วิธีการทำและขนมต้มใบตองก๋งใช้ใบตองก๋งในการห่อ ลักษณะการห่อเป็นทรงกรวยยาวสามเหลี่ยมรูปทรงแปลกตา
ขนมต้มใบตองก๋งมักจะใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ทำขึ้นในประเพณีปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงหรือชาวปกาเกอะญอ จ.แพร่ ตามความเชื่อว่า “ขนมใบตองก๋ง” เปรียบเสมือนความเหนียวแน่น ความปรองดองของคนในชนเผ่า และความเหนียวแน่นนี้จะไม่สามารถแยกคนในชนเผ่ากะเหรี่ยงออกจากกันได้ นอกจากการทำขนมต้มใบตองก๋งจะมีความหมายดี ๆ ซ่อนอยู่ ขนมลักษณะแปลกตายังมีรสชาติอร่อย หอมหวานและสามารถทำได้ทุกโอกาส จึงนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาใช้ทำขนม เพราะไม่ได้มีแค่ใบตอง ยังมีข้าวสาร มะพร้าวขูด ถั่วลิสง ถั่วดำ น้ำตาลทรายแดง เกลือ จากนั้นทำเป็นรูปกรวยยาวทรงสามเหลี่ยมและนำส่วนผสมตักใส่ให้เต็มทำให้แน่นให้ครบสามชิ้นแล้วใช้ตอกมัดติดกันให้แน่น เพื่อให้คงรูปจากนั้นจะนำไปต้มในน้ำเดือด เมื่อทุกอย่างสุกก็สามารถนำมากินได้เลย
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ พื้นที่ดำเนินงาน จ.แพร่ จัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา จ.แพร่ ให้กับเด็กนักเรียน 40 คน สืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำ “ขนมใบตองก๋ง” จากใบตองก๋งมากด้วยประโยชน์และสรรพคุณ เช่น รากตองก๋งนำมาต้ม ใช้เป็นยาสมุนไพร อมกลั้วคอเมื่อมีไข้ ก้านช่อดอกนำมาตากแห้งนำมามัดกับด้ามไม้ไผ่ใช้ทำเป็นไม้กวาด ส่วนใบนั้นก็นำมาใช้ห่อขนม ห่อข้าวต้ม ห่อข้าวเหนียวนึ่งและใช้ในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย เช่น พิธีผูกข้อมือ เป็นต้น
“หนูและเพื่อน ๆ ดีใจ ให้ความสนใจและรู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ ค่ะ เพราะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้สิ่งใหม่ สามารถที่จะได้ลงมือปฏิบัติจริง เข้าใจขั้นตอนวิธีทำขนมอย่างละเอียดได้มากขึ้นค่ะ และหนูได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมากยังสามารถนำความรู้ภูมิปัญญานั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถที่จะประกอบอาชีพทำขนมขายในท้องถิ่นใกล้เคียงหรือทำในเทศกาลต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ด้วยค่ะ” น้องปิ๊ก นักเรียนชั้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
คุณกรรณิการ์ บำรุงรัตน์ โรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎร์พัฒนา) ครูผู้สอนในกิจกรรมครั้งนี้เล่าความประทับให้ฟังว่า “การทำขนมเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เด็ก ๆ สนุกและตื่นเต้นที่อยากเข้าร่วมเรียนรู้ถึงขั้นตอนวิธีการทำขนมต้มใบตองก๋งอย่างละเอียด เด็กได้ฝึกขั้นตอนการทำขนมอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ดีใจค่ะที่เห็นเด็กแบ่งกันทำ หน้าที่ระหว่างขนม เด็กได้กินขนมอร่อย ๆ จากฝีมือของตนเองอย่างมีความสุขและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นค่ะ”
เผยแพร่เมื่อ : 11 พฤศจิกายน 2567