ขนมไทยมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีที่ประณีตบรรจง “ขนม” ในแต่ละภาคก็มีความแตกต่างกันออกไปตามวัตถุดิบของแต่ละภูมิภาค รวมถึงประเพณีที่นิยมในท้องถิ่นนั้น ๆ
ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำนานพอสมควร เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่มักจะนิยมทำและนำมาจัดพานในงานแต่งงาน รวมถึงขนมพื้นบ้านอื่น ๆ ที่นิยมทำรับประทานเองหรือใช้เลี้ยงต้อนรับแขก เช่น ขนมครก ขนมถ้วย เป็นต้น
“ปะการัง” เป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ มีลักษณะเป็นท่อนหยักเกรียวยาวคล้ายปะการัง เป็นขนมที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายทั้งในช่วงเทศกาลฮารีรายอและยังเป็นของดีของฝาก ปัจจุบันขนมปะการังมีการพัฒนารสชาติและเพิ่มมูลค่าอาหารโดยการผสมเครื่องเทศเพิ่มลงไปด้วย
คุณครู เสาวณี ครูโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส หนึ่งในโรงเรียนที่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ที่ให้การสนับสนุน บอกเล่าถึงขนมพื้นบ้านที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของแดนปักษ์ใต้ให้ฟัง
“ความที่อยากเรียนรู้ถึงวิธีการทำขนมปะการังและอยากจะทำให้ขนมปะการังให้เป็นที่แพร่หลายไปยังภาคอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์ท้องถิ่น จึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 5 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมปั้นเยาวชน คนมืออาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ เพื่อเรียนรู้และทำขนมปะการังโดยมีคุณครูเสาวณี เป็นครูที่คอยสอนและเป็นครูที่ปรึกษา ขนมปะการังเป็นขนมกรุบกรอบ มีส่วนประกอบหลักคือ แป้งข้าวเหนียว ไข่ไก่ พริกไทยดำเครื่องเทศ (ผงกะหรี่) เกลือ และน้ำตาล เพิ่มรสชาติจะออกเค็มนิดหวานหน่อยพอมีรสเผ็ดเล็กน้อยค่ะ มาปักษ์ใต้อย่าลืมหาขนมปะการังทานกันนะคะ” น้องตา อายุ 15 ปี ชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวพร้อมกับเชิญชวนลิ้มลองขนมปะการัง อัตลักษณ์ขนมแห่งแดนปักษ์ใต้