เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดยโสธร หลายคนคงนึกถึงเรื่องราวปรัมปรา “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ที่เล่าสืบต่อกันมาถึงลูกชายออกจากบ้านไปไถนา และแม่ผู้แก่ชราไปส่งข้าวช้า ทำให้ลูกหิวข้าวจนตาลายและทำร้ายแม่ตัวเอง จนเมื่อกินข้าวอิ่ม กระติบข้าวใบน้อยก็ยังคงมีข้าวเหลืออยู่ จึงได้สติ สำนึกบาป และได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยขึ้นมาเพื่ออุทิศและขออโหสิกรรมที่ทำมาตุฆาตจากเรื่องเล่าปรัมปรา และจากเรื่องเล่าปรัมปรานี้ทำให้ได้รู้จักกับกระติบข้าวหรือก่องข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน
ก่องข้าวน้อย ร่องรอยวิถีชีวิต “กระติบข้าวหรือก่องข้าว” เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวของคนอีสานที่สะท้อนคุณค่าทางภูมิปัญญาและวิถีชีวิตในท้องถิ่น เป็นหัตถกรรมที่มีความปราณีต ละเอียด สวยงาม นิยมใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายตามหมู่บ้าน มีความสวยงาม คงทน เก็บความร้อนได้ดี ทำให้ข้าวไม่แฉะ มาจักสานเป็นเส้นตอกเส้นเล็ก ๆ ด้วยลวดลายละเอียด
การสานกระติบข้าวได้มีการถ่ายทอดกันภายในครอบครัวและในชุมชนจากรุ่นปู่-ย่า ตา-ยาย มาถึงรุ่นลูกหลาน ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสานกระติบข้าวเพื่อสร้างรายได้ แต่เป็นการต่อลมหายใจให้กับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้คงอยู่
ครอบครัว “น้องไอซ์”และ “น้องไนท์” นางสาวสุวิญชาและนางสาวสุชาฎา พี่น้องฝาแฝด อายุ 18 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 น้องทั้ง 2 เป็นเยาวชนในความดูแลของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี น้องได้เล่าว่า ”ครอบครัวหนูมีอาชีพทำนาค่ะ ตา-ยาย
จะสานกระติบข้าวไว้ขาย หนูได้เห็นตา-ยาย สานกระติบข้าวมาตั้งแต่ยังเด็ก ตอนหนูอายุ 8-9 ปี ยายได้สอนให้สานตอกเป็นลายขัด ลายสอง ลายสาม และเริ่มทำกระติบข้าวช่วยยายมาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถออกแบบลายต่าง ๆ ได้ตามที่ลูกค้าต้องการแล้วค่ะ บางทีก็ทำเป็นตัวอักษรชื่อให้ด้วย”
“น้องไอซ์” ได้เป็นตัวแทนนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันงานจักสานระดับภาค ทำให้ได้รับความรู้เรื่องการออกแบบลวดลายเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการสานกระติบข้าวและผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่อื่น ๆ เช่น แจกัน โคมไฟ กล่องใส่กระดาษทิชชู และได้สร้างรายได้ให้กับตนเองด้วยการโพสต์ขายสินค้าออนไลน์
”น้องไอซ์” และ “น้องไนท์” รวมถึงเด็ก ๆ อีกหลายคนในหมู่บ้านนี้ เป็นกลุ่มเด็กจำนวนหนึ่งในเด็ก 2,021 คน ของจังหวัดยโสธรที่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ความช่วยเหลือมอบทุนการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวในด้านต่างๆ
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน และพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าให้เกิดรายได้และสืบสานต่อไปอย่างมีคุณค่า
หมู่บ้านหนองเป้า จังหวัดยโสธรเป็นที่รู้จักของพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อกระติบข้าวเป็นอย่างดี เพราะกว่าร้อยละ 90 ของหมู่บ้านเป็นครอบครัวที่สานกระติบข้าวเป็นอาชีพเสริมรายได้จากการทำนาซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี ชนิดที่ถ้าเดินเข้าไปในหมู่บ้านหนองเป้า ก็จะพบเห็นบรรยากาศการทำงานของครอบครัว ภาพของยายสอนหลานตัวเล็กให้ทำงาน บ้างจักตอก นำตอกมาตากแดดให้แห้ง ย้อมสี จักสาน กระติบข้าวสานด้วยลวดลายแปลกตาที่สานค้างไว้ กระติบข้าวที่ห้อยเป็นพวงหลังจากสานเสร็จแล้วรอพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อ สิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในเกือบทุกหลังคาเรือน เด็กผู้หญิงแทบจะทุกคนในหมู่บ้านได้เรียนรู้การสานกระติบข้าวตั้งแต่ยังเล็กและหลายคนมีทักษะสามารถสานกระติบข้าวได้อย่างสวยงาม มีความชำนาญเหมือนการพิมพ์สัมผัสที่ไม่จำเป็นต้องมองดูแป้นพิมพ์แต่ก็สามารถพิมพ์ไปได้