ร่อนทอง “บ้านภูเขาทอง” ภูมิปัญญาสร้างมูลค่า จ.นราธิวาส
“เหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ” ดินแดนกลางหุบเขาและป่าลึกที่เติบโตด้วยทองคำ ที่นี่ในอดีตมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง เรื่องราวในอดีตจึงทำให้ดินแดนแห่งนี้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแวะเวียนมาสัมผัสวิถีชุมชน ความเป็นเอกลักษณ์และความแตกต่างทางด้านสังคม วัฒนธรรมและผู้คนที่บ้านภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
ในอดีต ปี พ.ศ. 2474 อ.สุคิริน เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ โดยชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการรับสัมปทาน ภายหลังจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาเหมืองทองคำจึงถูกปิดกิจการลง แม้ปัจจุบันเหมืองทองคำจะยกเลิกสัมปทานไปแล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ทองคำยังคงอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังมีชาวบ้านมาร่อนแร่ทองคำตามวิถีแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้านกันอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถชมการร่อนทองของชาวบ้านในเส้นทางช่วงท้าย ๆ ของการล่องแก่ง ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านมักจะมาร่อนแร่หาทองคำ หรือที่เรียกว่า “ร่อนทอง” เป็นอาชีพเสริมของชาวภูเขาทองมาอย่างยาวนาน
“คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำเกษตร มีรายได้หลักจากขายผลไม้ กรีดยางพารา ช่วงฤดูฝนก็จะหางานอาชีพเสริมอื่น ๆ ทำเพื่อหารายได้” ป้าสร้อยเล่าให้ฟังขณะเดินไปที่แม่น้ำเพื่อร่อนทอง
ลุงเป้เล่าเสริมให้ฟังว่า “ส่วนมากก็จะเปลี่ยนที่ร่อนทองไปเรื่อย ๆ บางคนดวงดีก็จะได้เป็นก้อนแล้วแต่จังหวะ วันไหนร่อนได้ไม่ถึงกรัมก็จะได้ประมาณ 200 -300 บาทต่อวัน เพราะว่าราคาทองคำช่วงนี้แพงมากประมาณกรัมละสองพันกว่าบาท
“น้องไม้” เด็ก ซี.ซี.เอฟ. ร่อนทองหลังเลิกเรียน “ผมจะใช้ “เลียง” สำหรับไว้ร่อนหาทอง แม่ผมจะเป็นคนตักเศษหินที่อยู่ในแม่น้ำ ส่วนผมจะนั่งค่อย ๆ ร่อนไปเรื่อย ๆ ถ้ามีเศษทองก็จะเห็นสีเหลืองแวววับอยู่บนเลียงครับ”
แม่ของน้องไม้เล่าให้เจ้าหน้าที่ ซี.ซี.เอฟ. ฟังเกี่ยวกับทองว่า “ทุกคนในตำบลภูเขาทองส่วนใหญ่มีชีวิตผูกพันกับแร่ทอง จึงมีความเชื่อเหมือนกันเกือบทุกครัวเรือนว่า เวลาจะปลูกบ้านหลังใหม่ ต้องนำแร่ทองคำที่เคยร่อนได้ไปฝังไว้ที่เสาเอกเพราะว่าแร่ทองเหล่านี้เป็นทองดิบต้องมีไว้ในบ้านเพื่อเรียกเงินเรียกทองเข้าบ้าน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข บางครั้งมีบุญที่วัดก็จะนำเศษทองคำไปถวายวัดเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านมีความสุข สงบ ในความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินนี้”
เผยแพร่เมื่อ : 1 พฤศจิกายน 2567