ภาพกลุ่มเด็กน้อยล้อมวงระดมความคิด ตั้งชื่อจุลสารที่ประกอบขึ้นจากเรื่องราวที่เขียนบอกเล่า ภายในห้องเล็กๆ บ่งบอกถึงความตั้งใจของพวกเขาเป็นอย่างดี
หลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลและช่วยกันเรียบเรียงเขียนแต่งเป็นเวลา 1 วัน กลุ่มน้องๆ จาก มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. จากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก ที่เข้าร่วม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "นักข่าวฟันน้ำนม" รุ่นที่ 1 จัดขึ้นที่บ้านพักทัศนาจร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ได้จุลสาร ที่ชื่อว่า "สื่อน้อยตะลอนทัวร์" การอบรมครั้งนี้มีเด็กที่ได้รับคัดเลือกรวม 15 คน เริ่มต้นการเรียนรู้วิธีทำข่าวจากการอธิบายเทคนิคการเขียนข่าว การถ่ายภาพข่าว หน้าที่การทำงานของนักข่าวแต่ละตำแหน่งจากนักข่าวที่มีประสบการณ์
ก่อนให้น้องๆ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในสถานที่ท่องเที่ยวรอบเมืองเชียงใหม่ ทั้งวัดเจดีย์หลวง เวียงกุมกาม หมู่บ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เพื่อนำมาเขียนบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองนักข่าวรุ่นเยาว์
พี่นิ่ม น.ส.นิภาภรณ์ แสงสว่าง ผู้รับผิดชอบโครงการนักข่าวฟันน้ำนม ซี.ซี.เอฟ. จากกลุ่มศิลปะสัมผัสหัวใจ เล่าว่า การอบรมครั้งนี้เน้นให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เทคนิคการเขียนบทความ ข่าว และทักษะการใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอล เพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ผ่านเรื่องราวของชุนชนและตนเอง สะท้อนสภาพปัญหาในชุมชน บอกเล่าถึงความงดงามของวิถีชีวิตในชุมชน โดยนำเสนอในรูปแบบการถ่ายภาพและเขียนเล่าเรื่องประกอบภาพ จากการฝึกปฏิบัติและลงพื้นที่ทำงานจริง จนเกิดเป็นจุลสารเล่มเล็กๆ จากฝีมือน้องๆ
"จุลสารเล่มนี้จะเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจในชุมชน ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างแรงบันดาลใจ ต่อเติมความฝันให้เด็กๆ ได้เป็นนักข่าวน้อยในชุมชนของพวกเขา สามารถถ่ายภาพเล่าเรื่องชุมชนสะท้อนปัญหาในพื้นที่ของตนได้อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น" พี่นิ่มกล่าว
ด้าน น้องซัน ด.ช.สุริยา อายุ 12 ปี เด็กชายจากโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไลฯ บ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เล่าว่าการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ผมได้อยู่ในตำแหน่งนักข่าวและพิสูจน์อักษร ทำให้ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับการเขียนข่าว การถ่ายภาพ และเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นของนักข่าว ทั้งการใช้กล้อง การพกสมุดและปากกาติดตัวตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำข่าว
"การได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในครั้งนี้ เสมือนการเปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น ถ้ามีโอกาสผมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้บอกเล่าเรื่องราวชุมชนของผมที่อยู่ติดชายแดนพม่า เป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก ให้เป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น และจะนำเสนอวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้คนภายนอกรับรู้ว่าแม้พวกเราจะเป็นกลุ่ม คนที่ไร้สัญชาติ แต่ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพราะยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ ยังดูถูกพวกผมว่าเป็นคนกะเหรี่ยง" น้องซัน กล่าว
พร้อมบอกเล่าถึงความฝันว่า "ก่อนมาอบรมผมฝันอยากเป็นนักบิน แต่หลังจบการอบรมผมมีอีกหนึ่งความฝันใหม่คือการเป็นนักข่าวที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้สาธารณชนรับรู้ และจะทำให้ผมได้รู้เท่าทันเหตุการณ์ในบ้านเมืองด้วย" น้องซันกล่าวด้วยแววตาเป็นประกาย
ขณะที่ น้องนิล ด.ญ.รัตนากร สอนคุ้ม จากโรงเรียนบ้านแม่กลองใหม่ ต.แม่กลอง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เล่าบ้างว่า ปกติเป็นคนขี้อาย แต่เมื่อได้เข้ามาอบรมทำให้กล้าแสดงออก กล้าตั้งคำถาม กล้านำเสนอความคิดเห็นมากขึ้น และยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำงานข่าว การเขียนข่าว ได้พูดคุยกับชาวต่างชาติระหว่างลงพื้นที่ทำข่าวด้วย
"หนูจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในห้องเรียน ทั้งทักษะภาษาไทยที่ได้รับจากการเขียนข่าว การวางแผนการทำงาน การฝึกเรื่องความสามัคคีเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ หากมีโอกาสหนูอยากจะเขียนแนะนำการท่องเที่ยว อ.อุ้มผาง นำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้" น้องนิลกล่าวด้วยความมุ่งมั่น
ด้าน น้องซันเดย์ ด.ช.วัฒนา ตากิ่มนอก นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่สาว ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่าได้รับความรู้เกี่ยวกับการเขียนข่าว การถ่ายภาพ การวางแผนในการทำงาน การซักถามเพื่อหาข้อมูลข่าว การ ใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะ นำประโยชน์จากการอบรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียนในห้องเรียน
"สิ่งสำคัญที่ผม ได้รับคือทำให้ผมใฝ่ฝันที่จะเป็นนักข่าว เพราะจะได้รายงานเรื่องราวต่างๆ ในสังคมให้สาธารณชนรับรู้ เช่น เรื่องน้ำท่วม ประชาชนจะได้เตรียมตัวรับมือกับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นได้ ทันท่วงที" เด็กน้อยบอกเล่าถึงฝันอันยิ่งใหญ่
แม้หนทางในชีวิตของเด็กๆ จะอีกยาวไกล แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ณ ที่แห่งนี้ช่วยเปิดโลกแห่งความฝันให้กว้างไกลและพร้อมจะ มุ่งมั่นก้าวสู่ฝันนั้นดังที่พวกเขาตั้งใจ
นพพล สันติฤดี
คอลัมน์ สดจากเยาวชน, หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน หน้า 7
(24 พฤศจิกายน 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8396)