โรงเรียนราษฎร์รัฐ อ.สันติสุข จ.น่าน จัดตั้งโครงการรับซ่อมจักรยานให้กับชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เหตุผลในการจัดตั้งโครงการนี้ คือ เส้นทางการคมนาคมที่ทุรการและเทือกเขาสูงชันที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของนักเรียน และชาวบ้าน บ่อยครั้งจักรยานซึ่งเป็นพาหนะหลักของเด็กและผู้ใหญ่ชำรุดเสียหาย ก็ต้องลากจูงลงไปซ่อมในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายกิโลเมตร เด็กนักเรียนและอาจารย์จึงร่วมจัดทำ "โครงการรับซ่อมจักยาน" ขึ้นในโรงเรียน โดยมีสองพี่น้อง คือ ด.ช.ชวลิต บุญอิน และ ด.ช.สมบัติ บุญอิน นักเรียนชั้น ม.1 เป็นแกนนำ และสอนวิธ๊การซอ่มจักรยานเบื่องต้นให้กับเพื่อนที่เข้าร่วมโครงการอีกจำนวนกว่า 20 คน
โครงการซ่อมจักยานในโรงเรียน เริ่มดำเนินการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2550 ด้วยงบประมาณ 10,000 บาท ที่มูลนิธิฯ มอบให้เป็นค่าเครื่องมือสำหรับการซ่อม และอะไหล่ เช่น ยางใน ยางนอก และเบรค เป็นต้น โครงการตั้งอยู่ในโรงเรียนเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 2x3 ม. สำหรับเก็บอุปกรณ์ พื้นปู ฝาเป็นระแนงไม้ พอกันแดดและฝน ข้างหน้ามีมอเตอร์ไซค์ และจักรยานที่จอดนิ่งรอรับการซ่อมจากช่างตัวน้อย มีทีมงานตรวจสอบคุณภาพการซ่อมและเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน นายสงัด ขุนเพชร และ นายพีรพงษ์ พิทย์โพธิ์ ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ และดูแลเด็กในโครงการ ปัจจุบันนี้โครงการขยายจากการซ่อมจักรยานมารวมถึงซ่อมจักรยานยนต์ด้วย โดยมีเด็กมัธยมต้นเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 20 คน เด็กๆ ส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานในการซ่อมรถจักรยานอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพาหนะที่พวกเขาใช้เดินทางมาโรงเรียน ทำให้ง่ายในการสอนซ่อมรถจักรยานยนต์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน
แม้โครงการนี้จะไม่ได้สร้างรายได้ที่มากมายเพราะต้องนำรายได้จากค่าซ่อมจักยานเดือนละ 1,000-1,500 บาท ไปซื้ออะไหล่ เพิ่มเติม แต่เด็กๆ และคุณครูโรงเรียนราษฏร์รัฐก็รักและภูมิใจในสิ่งที่ตนเองกำลังทำ "พวกเราคิดว่าสิ่งที่ทำ เข้าได้กับแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเราใช้พลังของเด็กๆ ช่วยเหลือคนในชุมชนโดยไม่ได้หวังกำไรอะไรมากมาย"
เด็กๆ ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ได้สร้างโอกาสทางการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับพวกเขา สร้างทักษะด้านอาชีพ และทำให้พวกเขาได้มีโอกาสช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน ส่วนครูผู้ถ่ายทอดความรู้กล่าวว่า ดีใจที่มีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมดีๆ ให้เด็กๆ
"โครงการนี้ทำให้เด็กได้ ฝึกอาชีพ ไดใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญที่สุดเด็กๆ ได้แสดงให้ชุมชนเห็นว่า พลังของพวกเขามีคุณค่าสามารถช่วยเหลือผู้ใหญ่ในชุมชนได้"