“ลอบือ” หมู่บ้านเล็ก ๆ ชนเผ่าล่าหู่หรือเผ่ามูเซอแดง ที่มีเพียง 74 ครัวเรือน ตั้งอยู่ในหุบเขาที่สูงชันของพื้นที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย ใครจะเชื่อว่าในพื้นที่ของเขตอำเภอเมืองจะมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บนหุบเขาสูง เส้นทางการเดินทางเข้าหมู่บ้านยากลำบาก ระยะทางห่างจากตัวเมืองในจังหวัดเพียงแค่ 40 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 2-3 ชั่วโมง ด้วยเป็นถนนลูกรัง ดินแดงที่ลัดเลาะตามไหล่เขาสูงชันน้อยใหญ่ ถนนบางช่วงถูกน้ำฝนน้ำป่ากัดเซาะเป็นร่องลึกยิ่งทำให้ยากลำบากในการสัญจรมากยิ่งขึ้น การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านจะต้องใช้รถยนต์โฟร์วีลเท่านั้น ยิ่งหากเป็นช่วงฤดูฝน รถยนต์โฟล์วิลก็ไม่สามารถเดินทางไปได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่สะดวกกว่า หรือไม่ก็ใช้วิธีการเดินเท้าแทน
ที่ “ลอบือ”ที่นี่ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีเพียงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 2 คน ที่มีส่วนช่วยพัฒนาเฝ้าระวังสุขภาพของคนในชุมชนเบื้องต้นเท่านั้น จะมีหมอ พยาบาล จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพนาสวรรค์ เข้ามาตรวจเยี่ยมเป็นครั้งคราว มีอาคารหลังเล็ก ๆ หนึ่งหลัง ใช้สำหรับเป็นอาคารเรียนของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นห้องเรียนสาขา ของโรงเรียนบ้านผาขวางวิทยา มีเด็กทั้งหมด 16 คน เนื่องจากความยากลำบากในการเดินทางและยังเป็นเด็กเล็กจึงไม่สามารถเดินทางไปเรียน ที่โรงเรียนผาขวางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ ได้จึงจำเป็นต้องเรียนที่ห้องเรียนสาขา โดยเรียนรวมภายในอาคารเดียวกัน มีครูซึ่งเป็นครูอัตราจ้างทำการสอนเด็กห้องเรียนสาขาลอบือ จำนวน 2 คน
“ครูยาแตะ” ครูสมพร จะนู หนึ่งในครูผู้สอนเด็กห้องเรียนสาขาลอบือ ได้เล่าให้ฟังว่า “ครูยาแตะ เองเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ และด้วยการสื่อสาร วัฒนธรรมของชาติพันธ์ลาหู่จึงทำมีความผูกพันธ์กับเด็กและคนในชุมชนเป็นอย่างดี”
“เห็นเด็ก ๆ บน ลอบือ ขาดโอกาสในหลาย ๆ ด้าน จึงได้ทุ่มเทการทำงานเพื่อให้เด็กได้รับโอกาสที่ดีบ้าง อยากให้เด็กอ่านได้ เขียนคล่อง และเมื่อโอกาสมาถึง มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.ฯ ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือเด็กในโรงเรียน ได้มอบทุนการศึกษาสำหรับเด็กในการไปซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า รวมถึงเตรียมสร้างระบบน้ำให้กับห้องเรียนสาขาลอบือ ด้วยหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ และชุมชนอย่างเต็มที่ นอกจากจะเน้นเรื่องการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้แล้วยังได้ติดตามเยี่ยมเด็กเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของเด็กและประสานงานระหว่าง โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จ.เชียงราย ไปยังเด็กผู้ปกครองอยู่เป็นประจำ”
ตราบใดที่คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก จนเป็นเหตุให้เด็กขาดโอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การอาศัยความร่วมมือร่วมใจและผนึกกำลังร่วมกันของทุกส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานในพื้นที่ที่มีความเข้าใจและอยู่ชิดกับปัญหา “ครูยาแตะ” เป็นบุคคลอีกหนึ่งคนที่ทำหน้าที่ของตน ที่มีกำลังใจในการทำงาน และสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันมีพื้นที่การดำเนินงาน ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.อำเภอเมืองเชียงราย ดูแลและช่วยเหลือเด็ก ๆ จำนวนถึง 1,159 คน ผ่านโครงการมอบทุนการศึกษา โครงการคลังอาหารในครัวเรือน โครงการเสริมภูมิรู้วิถีชีวิติแนวใหม่เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก โครงการเด็กและเยาวชน CCF อาสาทำดีเพื่อสังคมเป็นสุข