นับตั้งแต่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2537 มูลนิธิฯ มุ่งมั่นทุ่มเททำงานช่วยเหลือเด็กยากไร้เพื่อสนองพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพและการศึกษาของเด็กยากไร้ขาดแคลน โดยน้อมนำพระราชปณิธานและพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางการทำงานเสมอมา จนเกิดโครงการช่วยเหลือเด็กในรูปแบบต่างๆ มากมาย
"ยังมีเด็กยากจนที่ประสบความหิวโหย โรคภัยได้เจ็บ ขาดสารอาหาร ไม่ได้ไปโรงเรียน ในชนบทห่างไกลจำนวนมาก ถึงแม้มีการช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชนหลายองค์กรได้ทำอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ ขอให้เราร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือเด็กให้ทั่วถึงและมากยิ่งขึ้น"
รับสั่งต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538
เด็กยากไร้จะได้รับการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 24 ปี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน มีอาหารกินครบ 3 มื้อและถูกหลักโภชนาการ / ได้รับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง / ได้เรียนหนังสือจนถึงขั้นสูงสุดตามศักยภาพ /
บ้านพักอาศัยได้รับการซ่อมแซมให้มั่นคงปลอดภัย / เด็กโตจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ / โรงเรียนที่เด็กๆ เรียนอยู่จะได้รับหนังสือ สื่อการสอน ปรับปรุงอาคารสถานที่
นางสาวอ้อมดาว คำควร อดีตเด็ก ซี.ซี.เอฟ. เรียนจบคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม วันนี้เธอได้ประกอบอาชีพเป็นพยาบาล "อยากขอบคุณ CCF และท่านผู้อุปการะหนูที่เอ็นดูและให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด"
"นักการศึกษากล่าวว่า โภชาการที่ดี คือ กุญแจสู่การศึกษา พวกเขากล่าวเสริมอีกว่า ถ้าหากเด็กๆ หิว พวกเขาจะไม่มีสมาธิ ถ้าหากเด็กๆ ขาดอาหาร สมองของพวกเขาจะไม่มีการพัฒนาที่ดี หรือไม่มีกำลังในการเรียนหนังสือ นักโภชนาการผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้พบเมื่อเร็วๆนี้ กล่าวว่า การศึกษา คือ กุญแจไขสู่การทำงานของพวกเขา ถ้าพวกเขาไปทำงานในที่ซึ่งไม่มีการศึกษา พวกเขาจะทำงานด้วยความยากลำบาก นักการศึกษากล่าวว่าโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ และนักโภชนาการกล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ"
พระราชดำรัส เมื่อปี 2548 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
อิสระ จาก จ.กาญจนบุรี อายุ 13 ปี แต่สูงเพียง 108 ซม. และหนัก 15 กก. เท่านั้น แต่หลังจากเข้าร่วม โครงการอาหารเช้าเพื่อน้อง ที่ CCF มุ่งแก้ปัญหาเด็กที่ต้องไปโรงเรียนโดยไม่ได้กินอาหารเช้า ปัจจุบัน อิสระ มีสุขภาพที่ดีขึ้นมาก และมีพัฒนาการจนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ ของ CCF ได้อย่างต่อเนื่อง
ในแต่ละปีมีเด็ก 7,489 คนใน 106 โรงเรียนและ 64 ชุมชน ที่ได้รับประทานอาหารเช้า มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 2.29 กก.และมีส่วนสูงเพิ่มเฉลี่ย 1.57 ซม. ต่อคน
"ความเจริญพัฒนา ความอยู่ดีกินดี ความสงบสุขของท้องถิ่นและประชาชนในภูมิภาคชายแดนทางใต้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนไม่อาจเพิกเฉย เพราะพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ตลอดจนประชาชน ล้วนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของชาติ มีสิทธิมีส่วนที่จะได้รับสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเจริญ ความวัฒนาผาสุก เช่นกันกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ"
พระราชดำรัส เมื่อปี 2556 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส
โครงการคืนรอยยิ้มให้น้องๆ ชายแดนใต้ เกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชดำรัสนี้ โดยมอบทุนการศึกษา ค่ายศิลปะบำบัด และของขวัญส่งความสุข ให้เด็กๆ ใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่สูญเสียผู้ปกครอง หรือได้รับผลกระทบทางจิตใจ และมีความลำบากในการดำรงชีพ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. มอบทุนการศึกษา จำนวน 1,217,000 บาท แก่เด็กกำพร้า 142 คน จาก 67 โรงเรียน
กิจกรรม ศิลปะเล่าชีวิต Art Story และ ค่าย Photo Story ใช้ศิลปะมาบำบัดและฟื้นฟูจิตใจ ทำให้เด็กๆ รู้จักและยอมรับตนเอง นิ่ง ตั้งใจ เกิดสมาธิ ช่วยฝึกทักษะการเขียน การคิดวิเคราะห์ ฝึกการคิดริเริ่ม วางแผน และกล้าที่จะลองผิดลองถูก
ด.ช. ฮัมบาลี เจ๊ะยอ อายุ 11 ปี จาก จ.นราธิวาส กำพร้าทั้งพ่อและแม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่กับน้าชาย "ผมดีใจมากที่ผมได้ร่วมกิจกรรมกับ CCF เช่น Art Story ผมสนุกและมีความสุขมาก ทุนที่ได้รับทำให้ผมสามารถนำไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และเป็นค่าเล่าเรียน ผมขอขอบคุณ CCF มากๆ ที่ช่วยเหลือผมครับ"
"การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องช่วยกันส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ของเด็กให้เข้มแข็ง อันจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี การศึกษาเจริญก้าวหน้า สามารถดำรงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างเป็นปกติสุข"
พระราชดำรัสในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, มีนาคม 2548
โครงการเปิดโลกอัจฉริยะ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2555 เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก ด้วยการสนับสนุนนักเรียนในต่างจังหวัดให้ได้รับสื่อความรู้วิชาการในรูปแบบที่น่าสนใจ อ่านสนุกและมีเนื้อหาสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้
ความสำเร็จของโครงการตลอด 4 ปี เปิดประตูการเรียนรู้สู่โลกนักอ่านให้กับเด็กยากจน สามารถขยายพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ กว่า 56,651 คน ในโรงเรียนทั้งหมด 226 แห่ง ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ด.ญ. กัญจนพร ทองอ่อน หรือ แพรว เรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านโนนเมือง จ.หนองบัวลำภู ได้เข้าร่วมโครงการเปิดโลกอัจฉริยะ เมื่อปี 2555 "ตอนนั้นห้องสมุดที่โรงเรียนยังไม่เสร็จ หนูเลยทำห้องสมุดเคลื่อนที่ เอาหนังสือที่คนชอบมากมาใส่ตระกร้าแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ให้เพื่อนๆ และคนในชุมชนมายืมไปอ่าน หนูอยากชวนทุกคนมาอ่านหนังสือกันเยอะๆ ใครยังอ่านไม่ได้ก็ค่อยสะกดค่ะ"