"ชิงเปรต" ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จ.นราธิวาส
การทำบุญ "สารทเดือนสิบ" เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวภาคใต้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน จากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า "วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็น "เปรต" ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี จะต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ลูกหลานจึงพากันจัดพิธีกรรมสารทเดือนสิบขึ้นด้วยการนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน ซึ่งจะได้รับการปล่อยตัวจากพญายมให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์" ในช่วงเวลานี้บุตรหลานจะเป็นผู้ทำบุญเลี้ยงต้อนรับผู้ล่วงลับ เรียกว่า "รับเปรต" และเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่เปรตจะต้องกลับยมโลก บุตรหลานจะทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า "ส่งเปรต" พร้อมกับส่งสิ่งของให้นำติดตัวกลับไปด้วย เช่น ขนมที่เก็บกินได้นาน ๆ หอม กระเทียม"
ร้านที่นำอาหารมาวางเลี้ยงผู้ล่วงลับ เรียกว่า "ตั้งเปรต" สร้างเป็นยกเสายกสูง จำนวน 4 เสาหรือเสาเดียว ส่วนมากนิยมจัดทำร้านเปรต 2 ร้าน ซึ่งบนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อม ไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงที่พระสงฆ์นั่งประกอบพิธีกรรม เมื่อเสร็จพิธีแล้วผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะรุมกันแย่งขนมที่ตั้งให้เปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้บุญกุศล เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก
มองไปไม่ไกลจากร้านเปรตมากนัก จะจัดสถานที่ "ชิงเปรต" ไว้ให้บุตรหลานและผู้ร่วมบุญปีนขึ้นไปชิงขนมที่ผูกไว้บนเสา ซึ่งเสาที่ใช้ปีนเป็นลำต้นของไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) ยาวประมาณ 3 เมตร นำเปลือกไม้ออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเสาเพื่อเพิ่มความลื่น ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้สำหรับผูกเชือกเพื่อห้อยขนมต่าง ๆ พอถึงเวลาปีนขึ้นไปใครปีนขึ้นไปชิงของที่อยู่บนเสาได้มากก็ได้รางวัลมาก ส่วนคนที่ชิงของบนเสาได้น้อยก็ได้รางวัลน้อย
ในทุกปี ๆ เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญสารทเดือนสิบ ทุกครอบครัวต่างตระเตรียมข้าวของให้พร้อมทำบุญให้ผู้ที่จากไป แม้ว่าผู้ที่จากภูมิลำเนาไปต้องเดินทางไปทำงานห่างไกล ก็ตั้งใจเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาโดยมีงานบุญสารทเดือนสิบเป็นตัวกลางเชื่อมหลอมรวมพี่น้อง เครือญาติและครอบครัว ได้กลับมาทำบุญให้บรรพชนที่ล่วงลับและตอบแทนบุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่
ร่วมสนับสนุนเงินบริจาค ได้ที่ https://bit.ly/4aBxI7D
#มูลนิธิซีซีเอฟ #CCF
เผยแพร่เมื่อ : 20 พฤษภาคม 2567