“ครูยศ” หนึ่งในผู้เคยได้รับทุนการศึกษา ซี.ซี.เอฟ. เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงใน “เมืองสามหมอก” แม้ว่าบ้านจะอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอมากนัก แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทั้งหมู่บ้านมีเพียงแสงไฟจากระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้พอได้ใช้บ้าง จึงทำให้หมู่บ้านของครูยศกลายเป็นเขตทุรกันดารไปโดยปริยาย
วัยเด็กเส้นทางชีวิตของ “ครูยศ” จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคหลากหลายด้าน ความหวังเดียวที่จะนำพาให้เขาเข้าถึง การศึกษาและปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตได้ คือ "ทุนการศึกษา” “ผมไปโรงเรียนด้วยชุดนักเรียนเก่า ๆ ที่ได้รับบริจาคมา รอยปักชื่อบนเสื้อของผมจึงมีหลายชื่อมาก เงินสำหรับเรียนหนังสือก็มาจากพ่อแม่ที่ต้องไปหยิบยืมคนอื่น รายได้จากการขายของป่าตามฤดู ขายผลผลิตการเกษตรเล็ก ๆ น้อย ๆ ของครอบครัว ลำพังแค่อาหารจะกินในแต่ละวันก็แทบจะไม่พอ ในตอนนั้นโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับที่สูงกว่าประถมศึกษาแทบไม่มี”
“ไม่เคยคิดเลยว่า จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็น “ครู” ความยากลำบากที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า “ทุนชีวิต” ของคนเรานั้นแม้มีไม่เท่ากันแต่ “ทุนการศึกษา ซี.ซี.เอฟ.” ทำให้ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนได้มีโอกาสในเส้นทางการศึกษาที่เท่าเทียมได้ หากไม่มีทุน ผมคงไม่ได้เป็นครู ไม่ได้มีโอกาสนำความรู้มาถ่ายทอดให้เด็กนักเรียนบนดอยบนพื้นที่ห่างไกลอย่าง อ.อมก๋อย แน่นอน” ครูยศนั่งเล่าย้อนอดีตในวัยเยาว์ให้ฟังด้วยความตื้นตันใจ
ปัจจุบันนี้ ปี 2567 ครูยศได้เดินทางมาไกลกว่าที่ตนเองเคยฝันเอาไว้ในวัยเด็ก ได้เป็น “ครู” ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กนักเรียนบนดอยในพื้นที่ห่างไกล อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
ในปีหนึ่ง ๆ มีเด็กในครอบครัวรายได้น้อยในถิ่นทุรกันดารจำนวนมาก ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา หรือไม่ได้เรียนต่อตามศักยภาพที่พวกเขามี แม้เด็ก ๆ จะพยายามวิ่งไล่ล่าหาโอกาสเพื่อเข้าเรียนต่อ แต่ด้วยต้นทุนชีวิตและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ที่ด้อยกว่า ทำให้โอกาสที่จะก้าวข้ามเข้าสู่ประตูการศึกษาได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากเกิน กำลังของเด็ก
เด็กเรียนดี ไม่มีทุนทรัพย์ แต่มุ่งหวังที่จะเป็น “ครู” เพื่อนำวิชาความรู้กลับไปพัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง